เงาะป่า ๑

Nephelium cuspidatum Blume

ชื่ออื่น ๆ
กะทอง, เพลิน, สังทอง (ใต้)
ไม้ต้น ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ใบย่อย ๒-๒๖ ใบ รูปรี ดอกแยกเพศต่างต้นหรือร่วมต้น ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ส่วนมากออกตามซอกใบใกล้ยอดหรือออกตามยอด และพบช่อดอกแบบช่อเชิงลดหรือช่อกระจะยาว ห้อยลงออกตามกิ่งหรือตามลำต้น ดอกสีค่อนข้างเขียวถึงค่อนข้างขาวหรือค่อนข้างเหลือง กลิ่นหอมอ่อน ๆ ผลคล้ายผลแห้งแตก รูปทรงรีหรือรูปค่อนข้างกลมมักแตกที่ปลาย ผิวเป็นหนามยาว สุกสีแดง มี ๑ เมล็ดมีเยื่อหุ้มเป็นเนื้อนุ่มสีขาว กินได้ รสเปรี้ยวถึงหวาน

เงาะป่าชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๔๐ ม. เปลือกสีน้ำตาล มีช่องอากาศเล็ก ๆ กิ่งอ่อนมีขนยาวหนาแน่น

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ก้านใบยาว ๒.๕-๒๑ ซม. รูปคล้ายทรงกระบอก ด้านบนมักเป็นร่อง ไม่มีหูใบ แกนกลางเมื่อยังอ่อนมีขนยาวหนาแน่น ใบย่อย ๒-๒๖ ใบ เรียงสลับเยื้องกันเล็กน้อยรูปรี กว้าง ๑.๘-๑๒.๕ ซม. ยาว ๖-๓๕ ซม. ปลายมนกว้างถึงแหลมหรือเรียวแหลม ส่วนที่แหลมยาวได้ถึง ๒.๕ ซม. โคนแหลมถึงมนกว้าง ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนังหรือบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบคู่ล่าง ๆ ด้านล่างมีขนทั่วไป ระหว่างเส้นแขนงใบมักมีขนคล้ายไหม ไม่มีตุ่มใบเส้นกลางใบทางด้านบนเป็นร่องถึงนูนเด่น เส้นแขนงใบข้างละ ๑๑-๑๘ เส้น ก้านใบย่อยยาว ๐.๒-๑.๕ ซม.

 ดอกแยกเพศต่างต้นหรือร่วมต้น ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ส่วนมากออกตามซอกใบใกล้ยอดหรือออกตามยอด และพบช่อดอกแบบช่อเชิงลดหรือช่อกระจะยาว ห้อยลง ออกตามกิ่งหรือตามลำต้น ดอกเล็ก สมมาตรตามรัศมี สีค่อนข้างเขียวถึงค่อนข้างขาวหรือค่อนข้างเหลือง กลิ่นหอมอ่อน ๆ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปคล้ายสามเหลี่ยม ยาว ๑.๑-๒.๕ มม. ไม่มีกลีบดอก หรืออาจพบได้ถึง ๕ กลีบ สั้นกว่ากลีบเลี้ยง จานฐานดอกรูปวงแหวน สีชมพู มีขนหรือเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๔-๗ หรือ ๘-๙ เกสร ก้านชูอับเรณูสีขาวหรือสีชมพู มีขน อับเรณูสีเหลือง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีก้านสั้น รูปทรงรีหรือค่อนข้างกลม สีนวล เห็นเป็น ๒-๔ พู มี ๒-๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียเป็นพู

 ผลคล้ายผลแห้งแตก รูปทรงรีหรือค่อนข้างกลม กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๒-๔ ซม. มักแตกที่ปลาย ผลเจริญเพียง ๑ พู ผิวเป็นหนามหรือรยางค์รูปเส้นด้ายถึงเป็นแผ่นแคบตรง หรือเป็นแผ่นรูปลิ้นโค้งงอ ยาวได้ถึง ๒ ซม. ฐานค่อนข้างกลม รูปพีระมิดหรือรูปสามเหลี่ยมเปลือกคล้ายแผ่นหนังแต่บาง สุกสีแดง มี ๑ เมล็ด มีเยื่อหุ้มเป็นเนื้อนุ่มสีขาว กินได้ รสเปรี้ยวถึงหวาน

 เงาะป่าชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น พบมากตามสันเขาและไหล่เขาที่แห้งแล้ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคมเป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เงาะป่า ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Nephelium cuspidatum Blume
ชื่อสกุล
Nephelium
คำระบุชนิด
cuspidatum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1796-1862)
ชื่ออื่น ๆ
กะทอง, เพลิน, สังทอง (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา