ตะขบใต้

Hemiscolopia trimera (Boerl.) Slooten

ไม้ต้นขนาดเล็ก โคนต้นขนาดใหญ่มากมีพูพอน กิ่งเกลี้ยง มักมีหนาม ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปรี ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะกึ่งช่อเชิงหลั่น ออกตามซอกใบ ดอกสีขาวอมเหลืองอ่อนหรือสีขาวอมเขียวอ่อน ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่กลับ เมล็ดค่อนข้างแบน รูปขอบขนาน มีเหลี่ยมไม่เท่ากัน

ตะขบใต้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๒ ม. โคนต้นขนาดใหญ่มากมีพูพอน กิ่งเกลี้ยง มักมีหนาม ยาวได้ถึง ๓.๕ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปรี กว้าง ๕-๑๒ ซม. ยาว ๑๐-๓๒ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมนหรือรูปลิ่ม ขอบจักฟันเลื่อยหรือหยักมน มักมีต่อมที่ปลายหยัก แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่า เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๐ เส้น พบบ้างที่มีได้ถึง ๑๔ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เส้นใบเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาวได้ถึง ๑ ซม. โคนก้านใบป่องและโค้งงอเล็กน้อย ปลายของก้านใบที่ติดกับโคนใบด้านบนมักมีต่อมขนาดใหญ่ ๑ คู่ หูใบขนาดเล็ก ร่วงง่าย

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะกึ่งช่อเชิงหลั่น ออกตามซอกใบ ช่อดอกสั้น แกนช่อดอกยาวได้ถึง ๑ ซม. แกนช่อแขนงยาวประมาณ ๑ มม. ใบประดับและใบประดับย่อยรูปไข่ กว้างและยาวได้ถึง ๒ มม. ดอกสีขาวอมเหลืองอ่อนหรือสีขาวอมเขียวอ่อน ก้านดอกยาว ๒-๕ มม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีรูปและขนาดค่อนข้างคล้ายกัน มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ ๓ กลีบ รูปไข่หรือรูปค่อนข้างกลม กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๓.๕-๕ มม. เกลี้ยง โคนกลีบดอกแคบกว่าโคนกลีบเลี้ยงและเรียวคล้ายเป็นก้านกลีบ เกลี้ยง ขอบกลีบมีขนครุยเล็กน้อย ติดทน จานฐานดอกสีแดง ขอบหยักได้ถึง ๔๐ หยัก ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ได้ถึง ๒๐๐ เกสร ยาวได้ถึง ๗ มม. อับเรณูทรงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายมีแกนอับเรณูยื่นเป็นติ่ง มีรังไข่ที่เป็นหมัน ดอกเพศเมียมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันยาวประมาณ ๑ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกลี้ยง มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๒-๔ มม. ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๓-๔ แฉก ยอดเกสรเพศเมียเล็ก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่กลับ กว้างได้ถึง ๑.๕ ซม. ยาวได้ถึง ๒.๕ ซม. มีก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล เกลี้ยง สีเขียว เมล็ดค่อนข้างแบน รูปขอบขนาน มีเหลี่ยมไม่เท่ากัน ยาว ๖-๘ มม.

 ตะขบใต้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามชายฝั่งและป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมาเลเซีย และเกาะสุมาตรา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะขบใต้
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hemiscolopia trimera (Boerl.) Slooten
ชื่อสกุล
Hemiscolopia
คำระบุชนิด
trimera
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Bonati, Gustave Henri
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Bonati, Gustave Henri (1873-1927)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์