ชบาจีน

Hibiscus syriacus L.

ไม้พุ่มขนาดกลาง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ถึงรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มักมีแฉกตื้น ๓ แฉก ดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ สีขาว ชมพูอ่อน ชมพูเข้ม หรือม่วงอ่อน กลางดอกสีแดงหรือม่วงแดง มีริ้วประดับโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย

 ชบาจีนเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงได้ถึง ๓ ม.มีขนรูปดาวทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ถึงรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด กว้าง ๓.๓-๔.๕ ซม. ยาว ๔.๘-๕.๕ ซม. มักมีแฉกตื้น ๓ แฉก ปลายแฉกแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบหยักมนหรือหยักซี่ฟันไม่สม่ำเสมอ เส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น เส้นแขนงใบจากเส้นกลางใบข้างละ ๓-๖ เส้น แผ่นใบทั้ง ๒ ด้าน มีขนธรรมดาและขนรูปดาวคละกัน ใบแก่เกือบเกลี้ยง ก้านใบยาว ๑-๑.๗ ซม. หูใบรูปแถบ ร่วงง่าย

 ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ก้านดอกยาว ๐.๔-๑.๕ ซม. มีขนรูปดาว มีริ้วประดับ ๖-๘ ริ้ว รูปแถบ ยาว ๐.๖-๑.๕ ซม. มีขนรูปดาว โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาวประมาณ ๒ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๑ ซม. กลีบดอก


รูประฆัง สีขาว ชมพูอ่อน ชมพูเข้ม หรือม่วงอ่อน กลางดอกสีแดงหรือม่วงแดง เมื่อบานเส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๖ ซม. มี ๕ กลีบ เรียงชั้นเดียวหรือซ้อนหลายชั้น รูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๕ ซม. ยาวประมาณ ๔.๕ ซม. ด้านนอกมีขนรูปดาว ขอบเป็นครุย เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๒.๕-๓ ซม. อับเรณูติดทั่วหลอด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียอยู่ภายในหลอดเกสรเพศผู้ ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๕ แฉก โผล่พ้นหลอดเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ชบาจีนเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับ ยังไม่มีข้อมูลการติดผลในประเทศไทย

 ประโยชน์ ทั้งต้นใช้เป็นสมุนไพร.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชบาจีน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hibiscus syriacus L.
ชื่อสกุล
Hibiscus
คำระบุชนิด
syriacus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์