ขางมูกเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๕ ม. ตามกิ่งมีช่องอากาศประปราย ทุกส่วนมียางสีขาว
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปรีแกมรูปใบหอกกว้าง ๑-๔.๕ ซม. ยาว ๕.๔-๑๒ ซม. ปลายเรียวแหลมโคนแหลม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนมันวาว เส้นกลางใบเห็นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๗ เส้น เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๔-๗ ซม.
ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกตามซอกใบ ก้านช่อสั้นทั้งช่อยาวประมาณ ๓ ซม. แต่ละช่อมี ๔-๑๒ ดอก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑.๕-๒ มม. ผิวและขอบมีขนละเอียด กลีบดอกสีขาว มีกลิ่นหอม โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด รูปคล้ายคนโท ยาว ๗-๙ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ซ้อนเหลื่อมไปทางขวาในดอกตูม แผ่กางออกคล้ายกรวยเมื่อดอกบาน แต่ละแฉกรูปไข่แกมรูปใบหอกกว้างประมาณ ๔ มม. ยาว ๑-๑.๓ ซม. ปลายแหลมหรือแหลมมน มีขนละเอียดทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้ติดบริเวณคอหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูรูปรีปลายจดกันและแนบติดยอดเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ แยกจากกันเป็น ๒ รังไข่ มีขนนุ่ม แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเชื่อมติดกัน ยาวประมาณ ๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นปุ่มรูปรี
ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว ออกเป็นคู่ แต่ละผลรูปทรงกระบอก คล้ายฝักถั่ว กว้างประมาณ ๕ มม. ยาว ๘-๕๐ ซม. เมล็ดจำนวนมาก รูปทรงกระบอกกว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ ซม. ปลายเรียวยาว ๕-๗ ซม. และมีขนสีขาวเป็นพู่ ขนยาวได้ถึง ๘ ซม.
ขางมูกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคมาเลเซีย.