กาแฟใบใหญ่เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๕-๑๗ ม.
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรี หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๕-๑๕ ซม. ยาว ๑๕-๓๐ ซม. ปลายแหลม โคนสอบขอบเรียบ แผ่นใบหนา สีเขียวเข้ม เป็นมัน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๓ เส้น ปลายโค้งจรดกันก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปไข่ ยาว ๓-๔ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ออกตามง่ามใบ ช่อละประมาณ ๑๕ ดอก หรือมากกว่า ก้านช่อดอกยาว ๑-๒ มม. ใบประดับ ๒-๓ ใบ กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปถ้วยเล็ก ๆ ยาวประมาณ ๔ มม. กลีบดอกสีขาว โคนติดกันเป็นหลอด ยาว ๑.๕-๒ ซม. ปลายแยกเป็น ๖-๙ แฉก รูปขอบขนานแกมรี ยาว ๑.๕-๒ ซม. เกสรเพศผู้ ๖-๙ อัน ติดอยู่ที่ปากหลอดดอกก้านชูอับเรณูยาว ๖-๗ มม. อับเรณูยาวประมาณ ๑ ซม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒.๕ ซม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก แต่ละแฉกยาวประมาณ ๕ มม.
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ค่อนข้างกลม หรือรูปไข่ กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. ผลแก่สีแดง และเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแห้ง เปลือกแข็ง มี ๒ เมล็ด รูปไข่ กว้าง ๔-๘ มม. ยาว ๑.๓-๑.๕ ซม. ด้านหนึ่งนูน ด้านหนึ่งราบและมีร่องตามยาวทางด้านราบ
กาแฟใบใหญ่เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศไลบีเรียในทวีปแอฟริกาตะวันตก นำไปปลูกในประเทศศรีลังกา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศเขตร้อนทั่วไป ในประเทศไทยนำมาปลูกกันบ้างทางภาคเหนือ เป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้นขึ้นได้ดีในที่ราบต่ำ มีฝนตกชุก ไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้ร่มไม้อื่น
เมล็ดมีสารประกอบที่สําคัญคือ แอลคาลอยด์กาเฟอีน ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทกลาง หัวใจ และกล้ามเนื้อ ใช้เป็นเครื่องดื่มกระตุ้นสมอง แต่ไม่นิยมเพราะคุณภาพต่ำกว่ากาแฟชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีสารอื่น ๆ อีก เช่น cafeol, Saccharose, ไขมัน และ caffetannic acid.