กาแฟอะราบิกา

Coffea arabica L.

ไม้พุ่ม ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่ ดอกเป็นหลอดสั้น สีขาว หรือสีนวล กลิ่นหอม ออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ผล ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด กลมรี เปลือกหนา ผล สุกสีแดงหรือเหลือง

กาแฟชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่กว้างประมาณ ๖ ซม. ยาว ๑๒-๑๕ ซม. ปลายแหลม โคนสอบเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบเรียบเป็นมัน บางครั้งเป็นคลื่น

 ดอกออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ มี ๒-๙ ดอก หรือมากกว่า สีขาวหรือสีนวล กลิ่นหอม ก้านดอกสั้นมาก ที่โคนดอกมีใบประดับเล็ก ๆ รูปไข่ กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก เกสรเพศผู้ติดบริเวณกึ่งกลางหลอดดอกและสลับกับแฉกกลีบดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวพ้นหลอดดอกเล็กน้อย ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด กลมรี ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. เปลือกหนา ผลสุกสีแดงหรือเหลืองขึ้นอยู่กับพันธุ์เมล็ดยาว ๐.๙-๑.๓ ซม. ปรกติมี ๒ เมล็ด แต่อาจมีเมล็ดเดียวก็ได้

 กาแฟอะราบิกาเป็นพืชผสมตัวเอง การผสมข้ามต้นอาจเกิดขึ้นได้ในธรรมชาติ แต่มีโอกาสน้อย กาแฟชนิดนี้มี ๒ พันธุ์ คือ C. arabica L. var. typica Cramer ยอดอ่อนสีแดง และ C. arabica L. var. bourbon (B.Rodr.) Choussy ยอดอ่อนสีเขียว

 กาแฟอะราบิกามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในป่าสูงทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเอธิโอเปีย บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ ม. ประเทศที่ปลูกกาแฟอะราบิกามีมากกว่า ๕๐ ประเทศ ในทวีปอเมริกาทั้งอเมริกาใต้และอเมริกากลาง แอฟริกา และเอเชีย กาแฟอะราบิกานำมาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๓ ในปัจจุบันปลูกอยู่บนภูเขาทางภาคเหนือ เช่น ที่ จ. เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก เพชรบูรณ์ การปลูกกาแฟอะราบิกาถ้าไม่ตัดแต่งกิ่งจะมีขนาดลำต้นสูงไม่เกิน ๕ ม. ควรปลูกบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่ต่ำกว่า ๖๐๐-๗๐๐ ม. เจริญงอกงามได้ดีในที่อากาศหนาวเย็น อุณหภูมิ ๑๕-๒๖ °ซ. ออกผลเมื่ออายุ ๒-๓ ปี อ่อนแอต่อโรคราสนิม ให้รสชาติกลมกล่อม มีกาเฟอีนร้อยละ ๐.๘๕-๑.๗

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กาแฟอะราบิกา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Coffea arabica L.
ชื่อสกุล
Coffea
คำระบุชนิด
arabica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายอาภรณ์ ธรรมเขต