กาพุ่ม

Uncaria cordata (Lour.) Merr.

ชื่ออื่น ๆ
ย่านน้ำเต้า (สุราษฎร์ธานี)
ไม้เถาเนื้อแข็ง ใบเรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรี หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น กลมออกตามง่ามใบและปลายยอด ดอกสีนวล เป็นหลอดแคบผลรูปทรงกระบอก มีขนนุ่มสีน้ำตาลแดง

กาพุ่มเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ยาวได้ถึง ๓๐ ม. กิ่งสี่เหลี่ยมเป็นสัน เมื่อยังอ่อนมีขนนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น มีขอเกี่ยว

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรี หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๔-๕ ซม. ยาว ๗-๑๐ ซม. ปลายเป็นติ่งสั้น ๆ โคนมนหรือเว้าเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบด้านล่างมีขนสีน้ำตาลแดง ด้านบนมันเป็นเงา เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๑ เส้น ระหว่างเส้นแขนงใบมีเส้นขั้นบันไดเห็นเด่นชัด ก้านใบยาว ๑-๑.๕ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปกลม หยักเป็น ๒ แฉก

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น กลม ออกเดี่ยวตามง่ามใบและปลายยอด เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๕-๔ ซม. ดอกสีนวลก้านดอกแข็ง ยาว ๖-๘ ซม. มีขนนุ่มหนาแน่น มีใบประดับเรียงเป็นวงใกล้ ๆ กระจุกดอก กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูปรี ยาวประมาณ ๒ มม. มีขนนุ่มหนาแน่น ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม ๕ แฉก ยาวประมาณ ๓ มม. บานออกเป็นรูประฆัง ด้านในมีขนสั้นหนาแน่น กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดแคบยาวประมาณ ๑ ชม. ด้านนอกมีขนยาวราบ ปลายหลอดแยกเป็นแฉกรูปขอบขนาน ปลายมน ยาวประมาณ ๒ มม. ด้านนอกมีขนหยาบ ด้านในค่อนข้างเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๕ อัน ติดอยู่ที่ปลายหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูยาวประมาณ ๒ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปกระสวย มี ๒ ช่อง ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒ มม.

 ผลรูปทรงกระบอก ยาว ๐.๗-๑.๒ ซม. มีขนนุ่มสีน้ำตาลแดงทั่วไป

 กาพุ่มมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบ ในต่างประเทศพบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กาพุ่ม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Uncaria cordata (Lour.) Merr.
ชื่อสกุล
Uncaria
คำระบุชนิด
cordata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
- Merrill, Elmer Drew
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de (1717-1791)
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
ชื่ออื่น ๆ
ย่านน้ำเต้า (สุราษฎร์ธานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต