กาฝากมะม่วง

Dendrophthoe pentandra (L.) Miq.

กาฝากเกาะตามกิ่งไม้ เป็นพุ่ม ใบเรียงตรงข้ามหรือเรียงไม่เป็นระเบียบ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามข้อและตามง่ามใบ ดอกสีเขียวอมเหลืองหรือส้ม กลีบรวม ๕ กลีบ โคนติดกันเป็นหลอด ผลคล้ายแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ดรูปไข่ มีเมล็ดเดียว

กาฝากมะม่วงเป็นพืชเบียน ลักษณะเป็นพุ่ม ต้นแข็ง โคนเป็นปุ่มติดกับพืชถูกเบียน ยอดอ่อนมีขน

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือเรียงไม่เป็นระเบียบ รูปใบมีหลายแบบ ส่วนมากรูปที่แคบหรือกว้าง กว้าง ๓-๘ ซม. ยาว ๖-๑๓ ซม. ปลายใบส่วนใหญ่มน อาจพบแหลมหรือเรียวแหลมบ้าง โคนสอบแหลมหรือเป็นครีบ แผ่นใบสีเขียวหม่นด้านบนสีเข้มกว่าด้านล่างเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละประมาณ ๕ เส้น ใบเปราะ หักง่ายก้านใบยาว ๐.๕-๒ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามข้อและตามง่ามใบ แกนกลางยาว ๑-๒ ซม. มี ๖-๑๒ ดอก ช่อดอกและดอกมีขนสีขาว เทา หรือน้ำตาล ดอกส่วนมากสีเขียวอมเหลืองหรือส้มแต่ละดอกมีใบประดับรองรับ ๑ ใบ ก้านดอกยาว ๑-๔ มม. กลีบรวมยาว ๑.๒-๒ ซม. โคนติดกันเป็นหลอดรูประฆังแคบ ยาว ๐.๖-๑.๒ ซม. โคนหลอดเป็นเหลี่ยมหรือเป็นปีก ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก ปลายแฉกมนหรือรูปกระบอง มีขนบาง เมื่อดอกบานกลีบรวมจะม้วนกลับ เกสรเพศผู้ ๕ อัน อับเรณูรูปขอบขนานแคบ ยาว ๒-๕ มม. ปลายมน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลหลายเม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มกลม

 ผลคล้ายแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปไข่ มีเมล็ดเดียว

 กาฝากมะม่วงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบในป่าชื้น ป่าโปร่ง และตามสวน ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ทั้งต้นตากแห้งชงดื่มลดความดันโลหิต ใบชงดื่มแก้ไอและตำพอกแผล.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กาฝากมะม่วง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dendrophthoe pentandra (L.) Miq.
ชื่อสกุล
Dendrophthoe
คำระบุชนิด
pentandra
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von (1707-1778)
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm (1811-1871)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์