เงาะดิเรก

Dimocarpus longan Lour. subsp. malesianus Leenh. var. malesianus

ชื่ออื่น ๆ
ลำไยป่า (ใต้)
ไม้ต้น ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ใบย่อย ๔-๑๒ ใบ เรียงสลับเยื้องกันเล็กน้อยรูปขอบขนานถึงรูปรี ดอกแยกเพศร่วมต้นและร่วมช่อ ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามยอดหรือตามซอกใบ ดอกสีขาวถึงสีเหลือง กลิ่นหอม ผลคล้ายผลแห้งแตก รูปค่อนข้างกลม สีน้ำตาลอ่อน มักแตกกลางพู ผิวเป็นปุ่มรูปพีระมิด ปลายมีหนามแหลมสั้น มี ๑ เมล็ด รูปทรงกลม สีน้ำตาลดำเป็นมัน ขั้วเมล็ดใหญ่ รูปค่อนข้างกลม เมล็ดมีเยื่อหุ้มเป็นเนื้อนุ่มสีขาว

เงาะดิเรกเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๐ ม. เปลือกนอกสีน้ำตาลแดง เปลือกในสีชมพู กิ่งอ่อนมีขนยาวสีทอง กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ก้านใบยาว ๓-๒๐ ซม. ด้านบนมักเรียบ แกนกลางมีขน ใบย่อย ๔-๑๒ ใบ เรียงสลับเยื้องกันเล็กน้อย รูปขอบขนานถึงรูปรี กว้าง ๒.๕-๔.๕ ยาว ๕-๑๓ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนแหลมถึงมน ขอบเรียบ ด้านบนของแผ่นใบค่อนข้างเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นหนานุ่ม และมักมีต่อมอยู่บ้างระหว่างซอกเส้นแขนงใบกับเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๔-๑๙ เส้น ด้านบนเป็นร่อง เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบย่อยสั้น ด้านบนมักเป็นร่อง

 ดอกแยกเพศร่วมต้นและร่วมช่อ ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามยอดหรือตามซอกใบ ยาวได้ถึง ๔๐ ซม. มีขนสั้นหนานุ่มเป็นกระจุกแน่น ช่อย่อยมีดอก ๑-๕ ดอก ดอกสีขาวถึงสีเหลือง กลิ่นหอม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. ใบประดับรูปไข่แกมรูปขอบขนานถึงรูปใบหอกแคบ ยาว ๒-๕ มม. มักกางออกกลีบเลี้ยงกว้าง ๑-๓ มม. ยาว ๒-๕ มม. โคนกลีบเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก พบน้อยที่มี ๖ แฉก รูปคล้ายสามเหลี่ยม กลีบดอก ๕ กลีบ รูปช้อนไม่มีเกล็ด ขนาดใกล้เคียงกับกลีบเลี้ยง กลีบดอกมีขนหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน โดยเฉพาะด้านในมีขนคล้ายขนแกะ จานฐานดอกรูปวงแหวน มีขนยาว หนาแน่น ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๖-๑๐ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๑-๖ มม. อับเรณูยาว ๐.๖-๑.๕ มม. ดอกเพศเมียไม่มีก้านรังไข่รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ผิวเป็นปุ่มและมีขนหนาแน่นมี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ พู

 ผลคล้ายผลแห้งแตก รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๓ ซม. สีน้ำตาลอ่อน มักแตกกลางพู เจริญเป็นผลเพียง ๑ พู ผิวเป็นปุ่มรูปพีระมิด ปลายมีหนามแหลมสั้น มี ๑ เมล็ด รูปทรงกลม สีน้ำตาลดำเป็นมันเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง ๑.๗ ซม. ขั้วเมล็ดใหญ่ รูปค่อนข้างกลม เมล็ดมีเยื่อหุ้มเป็นเนื้อนุ่มสีขาว

 เงาะดิเรกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๑๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงกันยายนเป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงตอนกลางของภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เงาะดิเรก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dimocarpus longan Lour. subsp. malesianus Leenh. var. malesianus
ชื่อสกุล
Dimocarpus
คำระบุชนิด
longan
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
subsp. malesianus
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- Leenh.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1717-1791)
ชื่ออื่น ๆ
ลำไยป่า (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา