ตะเกราน้ำเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๐ ม. เปลือกมีช่องอากาศสีขาวหรือสีเทา ตามกิ่งมีรอยแผลใบ
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปรีหรือรูปใบหอก กว้าง ๔-๘ ซม. ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลม แหลม หรือมน โคนรูปลิ่ม ขอบจักฟันเลื่อยห่างแผ่นใบเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละประมาณ ๑๐ เส้น ปลายเส้นจดปลายจัก ก้านใบยาว ๒-๔ ซม. หูใบค่อนข้างติดทน
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง เป็นช่อใหญ่ กว้างและยาว ๘-๑๒ ซม. มีขนสั้นหนานุ่ม ก้านดอกยาว ๓-๕ มม. ดอกสีขาว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาว ๒-๓ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายแฉกมนหรือแหลม กลีบเลี้ยงติดทน กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับหรือรูปค่อนข้างกลม กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๔-๕ มม. ปลายมนหรือเว้าตื้น ก้านกลีบสั้น เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อยที่โคนกลีบด้านใน เกสรเพศผู้ ๒๐ เกสร รังไข่กึ่งใต้วงกลีบ มี ๒-๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ปลายรังไข่มีขนยาว ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๒-๓ ก้าน โคนเชื่อมติดกัน มีขนยาวนุ่ม ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก
ผลแบบผลเทียมเนื้อนุ่ม ทรงรูปไข่ กว้างได้ถึง ๑ ซม. ยาวได้ถึง ๑.๕ ซม. ผนังผลมีเนื้อเล็กน้อย มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดรูปทรงกลม ขนาดใหญ่ มี ๑-๒ เมล็ด
ตะเกราน้ำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค พบตามป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางได้ถึง ๑,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ในต่างประเทศพบทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.