ชบาจิ๋ว

Hibiscus hirtus L.

ไม้พุ่ม มีขนหลายแบบ ทั้งขนรูปดาวขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ขนตรงยาว และขนสั้นปะปนกัน ใบเดี่ยวเรียงเวียน รูปไข่ถึงรูปหัวใจ ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง สีชมพูอมส้มคล้ายสีอิฐ มีริ้วประดับผลแบบผลแห้งแตกกลางพู ทรงรูปไข่กลับหรือค่อนข้างกลม เมล็ดรูปคล้ายไต สีดำ มีขนยาวเป็นมันคล้ายไหม

ชบาจิ๋วเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๑.๕ ม. ลำต้นรูปทรงกระบอกเรียว สีเขียว มีขนหลายแบบ ทั้งขนรูปดาวขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ขนตรงยาว และขนสั้นปะปนกัน

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ถึงรูปหัวใจ กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๓-๗ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลมโคนสอบเล็กน้อย รูปตัดหรือเว้าตื้น ขอบหยักซี่ฟันหรือจักฟันเลื่อย เส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น เส้นกลางมีต่อมรูปแถบ ยาว ๓-๕ มม. อยู่ด้านล่างเหนือโคนใบขึ้นมา ๗-๙ มม. มีขนประปรายทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑.๒-๕.๕ ซม. มีขนหนาแน่น หูใบรูปเส้นด้าย ยาว ๕-๗ มม. มีขน

 ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ก้านดอกยาว ๓.๕-๕ ซม. มีขน มีข้อต่ออยู่ห่างจากโคนดอกประมาณ ๔ มม. มีริ้วประดับ ๕-๘ ริ้ว รูปแถบ กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาว ๒-๗ มม. ติดทน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปแถบถึงรูปใบหอก กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. ด้านนอกมีขนหนาแน่น ด้านในมีขนประปราย บริเวณโคนกลีบเกลี้ยง กลีบดอกสีชมพูอมส้มคล้ายสีอิฐ มี ๕ กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง ๐.๘-๑ ซม. ยาว ๑-๑.๒ ซม. ปลายกลมมน โคนสอบ ขอบเรียบ ด้านนอกมีขนประปราย ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑ ซม. โค้งงอไปด้านหนึ่ง อับเรณูติดเป็นกระจุก ๆ ทั่วหลอดเกสรเพศเมียอยู่ภายในหลอดเกสรเพศผู้ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒-๓ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑.๒ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มกลมมีขน

 ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู ทรงรูปไข่กลับหรือค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๗-๑ ซม. ด้านนอกมีขนประปรายหรือเกลี้ยง ด้านในเกลี้ยง มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีเมล็ด ๒-๓ เมล็ด เมล็ดรูปคล้ายไต ยาวประมาณ ๓.๕ มม. สีดำ มีขนยาวเป็นมันคล้ายไหม

 ชบาจิ๋วเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับได้ทั่วไป ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชบาจิ๋ว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hibiscus hirtus L.
ชื่อสกุล
Hibiscus
คำระบุชนิด
hirtus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์