กระชายเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าสั้น แตกหน่อได้ รากอวบรูปทรงกระบอกหรือรูปไข่ค่อนข้างยาว ปลายเรียว กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๔-๑๐ ซม. ออกเป็นกระจุก ผิวสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีเหลือง มีกลิ่นเฉพาะตัว ส่วนที่อยู่เหนือดินเป็นใบ มี ๒-๗ ใบ
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี กว้าง ๕-๑๒ ซม. ยาว ๑๒-๕๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือแหลม ขอบเรียบ เส้นกลางใบ ก้านใบ และกาบใบด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างนูนเป็นสันก้านใบเรียบ ยาว ๗-๒๕ ซม. กาบใบสีชมพู ยาว ๗-๒๕ ซม. ระหว่างก้านใบและกาบใบมีลิ้นใบ
ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอดระหว่างกาบใบคู่ในสุด ยาวประมาณ ๕ ซม. ดอกสีขาวหรือขาวอมชมพูอ่อน แต่ละดอกมีใบประดับ ๒ ใบ สีขาวหรือขาวอมชมพูอ่อน รูปใบหอก กว้างประมาณ ๘ มม. ยาว ๓.๕-๔.๕ ซม. กลีบเลี้ยงสีขาวหรือขาวอมชมพูอ่อน โคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑.๗ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๖ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก รูปใบหอก ขนาดไม่เท่ากัน กลีบใหญ่ ๑ กลีบ กว้างประมาณ ๗ มม. ยาวประมาณ ๑.๘ ซม. อีก ๒ กลีบ ขนาดเท่ากัน กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. เกสรเพศผู้ ๖ อัน แต่ ๕ อัน เปลี่ยนไปมีลักษณะเหมือนกลีบดอก โดย ๒ กลีบบนสีชมพู รูปไข่กลับ ขนาดเท่ากัน กว้างประมาณ ๑.๒ ซม. ยาวประมาณ ๑.๗ ซม. อีก ๓ กลีบล่างสีชมพู ติดกันเป็นกระพุ้ง กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาวประมาณ ๒.๗ ซม. ปลายแผ่กว้างประมาณ ๒.๕ ซม. มีสีชมพูหรือม่วงแดงเป็นเส้น ๆ อยู่เกือบทั้งกลีบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงกระเปาะและปลายกลีบ มีเกสรเพศผู้สมบูรณ์ ๑ อัน ก้านชูอับเรณูหุ้มก้านยอดเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลหลายเม็ด
ผลแก่แตกเป็น ๓ เสี่ยง เมล็ดค่อนข้างใหญ่
กระชายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นในดินปนทราย ในต่างประเทศพบที่อินเดีย จีน และแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เหง้าและรากใช้เป็นอาหาร เครื่องเทศ และเป็นยาขับลมบำรุงธาตุ แก้ปวดท้อง แก้ไอ บำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ ขับประจำเดือน และใช้ทาภายนอกแก้ปวดเมื่อย (เสงี่ยม พงษ์บุญรอด, ๒๕๑๔; Perry and Metzger, 1980)
สารเคมีที่พบในกระชาย คือ boesenbergin A, boesenbergin B, panduratin A, panduratin B1, panduratin B2, cardamonin, 2ᐟ, 6ᐟ-dihydroxy-4ᐟ-methoxychalcone, pinocembrin, pinostrobin, alpinetin และ 1,8-cineol (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, ๒๕๓๐)