กาบหอย-ว่าน

Tradescantia spathacea Stearn

ชื่ออื่น ๆ
ว่านหอยแครง
ไม้ล้มลุก ใบเรียงเวียนถี่ รูปแถบ ช่อดอกออกตามง่ามใบ ใบประดับสีม่วงแซมเขียว รูปหัวใจโค้ง ดอกสีขาว อยู่รวมกันเป็นกระจุก ผลเล็ก รูปรี

ว่านกาบหอยเป็นไม้ล้มลุก สูง ๒๐-๖๐ ซม. ลำต้นอวบใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๕ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ รูปแถบ กว้าง ๒-๖ ซม. ยาว ๑๕-๔๐ ซม. ปลายแหลม โคนตัดและโอบลำต้น ขอบเรียบ


แผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีม่วงแดง เส้นใบขนานเห็นไม่ชัด ไม่มีก้านใบ

 ช่อดอกออกตามง่ามใบ มีทั้งช่อเดี่ยวและหลายช่อ แต่ละช่อประกอบด้วยใบประดับที่เป็นกาบ ๒ กาบ สีม่วงแซมเขียวรูปหัวใจโค้ง กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๓-๔ ซม. โคนกาบทั้งสองประกบเกยซ้อนและโอบหุ้มดอกสีขาวขนาดเล็กที่อยู่รวมกันเป็นกระจุก ก้านช่อดอกยาว ๑-๕ ซม. โคนก้านช่อดอกมีใบประดับ ๑ ใบ สีม่วงแซมเขียว รูปไข่กลับ ก้านดอกยาว ๑-๑.๕ ซม. โคนก้านดอกมีใบประดับสีม่วงอ่อนเป็นเยื่อบาง รูปไข่ ยาวประมาณ ๑ ซม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ สีขาว รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว ๓-๖ มม. บางใส กลีบดอก ๓ กลีบ สีขาวรูปไข่ กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๕-๘ มม. แผ่นกลีบหนา เกสรเพศผู้ ๖ อัน ก้านชูอับเรณูสีขาว รูปเรียว มีขนยาว ส่วนปลายก้านแผ่แบนสีเหลือง อับเรณูสีแดง รังไข่ผนังเรียบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เมื่อ

 ผลเล็ก รูปรี เมล็ดเล็ก

 ว่านกาบหอยเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นเดิมในแถบเม็กซิโก คิวบา และอเมริกากลาง แล้วแพร่กระจายไปยังประเทศต่าง ๆ รวมทั้งทวีปเอเชีย

 นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ใช้เป็นยาแผนโบราณ ไทยใช้แก้ไอ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ และฟกช้ำ (โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ, ๒๕๒๑) จีนใช้ดอกแก้อาการเลือดออกในลำไส้ แก้บิด และแก้ไอ ในไต้หวันใช้พอกแผลมีดบาดและแก้บวม (Perry and Metzger, 1980).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กาบหอย-ว่าน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tradescantia spathacea Stearn
ชื่อสกุล
Tradescantia
คำระบุชนิด
spathacea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Stearn, William Thomas
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1911- )
ชื่ออื่น ๆ
ว่านหอยแครง
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์