กาบกล้วย

Pisonia umbelliflora (J.R.& G.Forst.) Seem.

ชื่ออื่น ๆ
ตังหนูต้น (ชัยภูมิ), มะกั๋งร่ม
ไม้ต้น ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปรีแกมรูปขอบขนานช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีเขียวอ่อนมีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและแยกเพศในช่อเดียวกัน ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปกระบอง มีครีบตามยาว

กาบกล้วยเป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๑๘ ม. อาจสูงได้ถึง ๒๘ ม. กิ่งอ่อนและก้านช่อดอกมีขนสั้น ๆ แต่จะร่วงไปในเวลาต่อมา

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม บางครั้งเรียงชิดกันที่ปลายกิ่งรูปไข่ถึงรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๑๒ ซม. ยาว ๙-๒๕ ซม. ปลายมนถึงเรียวแหลม โคนสอบเป็นรูปลิ่มถึงเรียวแคบเส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๐ เส้น ก้านใบยาว ๑-๕ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงสั้น ๆ เป็นกระจุกหรือเป็นแบบซี่ร่ม ออกตามปลายกิ่ง มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกแยกเพศภายในช่อเดียวกัน แต่ละช่อยาว ๓-๑๐ ซม. ดอกเล็กมาก สีเขียวอ่อน ก้านดอกยาว ๒-๖ มม. มีใบประดับติดอยู่ที่โคนก้าน ๑-๓ ใบ กลีบรวม ๕ กลีบ โคนกลีบติดกันเป็นรูปถ้วย ยาว ๓-๗ มม. เกสรเพศผู้ (๔)-๖-๑๔ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน เรียวยาว รูปกระบอง มี ๕ พู คล้ายผลมะเฟือง ยาว ๓-๔ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ มม. มียางเหนียวติดมือ ก้านผลยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. มีเมล็ดเดียว รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๑.๗-๒ ซม.

 กาบกล้วยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นในที่โล่ง ป่าดิบชื้น ตามเขาหินปูน และป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๕๐-๑,๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบตั้งแต่ประเทศทางภาคตะวันออกของทวีปแอฟริกา เอเชียเขตร้อนตลอดไปจนถึงออสเตรเลีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กาบกล้วย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pisonia umbelliflora (J.R.& G.Forst.) Seem.
ชื่อสกุล
Pisonia
คำระบุชนิด
umbelliflora
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Forster, Johann Georg Adam
- Seemann, Berthold Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Forster, Johann Georg Adam (1754-1794)
- Seemann, Berthold Carl (1825-1871)
ชื่ออื่น ๆ
ตังหนูต้น (ชัยภูมิ), มะกั๋งร่ม
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม