กาน้ำเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๘ ม. มีขนกำมะหยี่ทั่วไป ยกเว้นที่ใบ เปลือกเรียบ สีน้ำตาล
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๔-๔.๕ ซม. ยาว ๓.๕-๑๕ ซม. ปลายมนหรือเรียวแหลมโคนสอบแคบ เบี้ยวเล็กน้อย ขอบค่อนข้างเรียบ ไม่ค่อยพบต่อมแผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียวเข้ม เกลี้ยง ยกเว้นที่โคนเส้นใบมีขนด้านล่างสีจางกว่า มีขนหยาบแข็งตามเส้นกลางใบ เส้นแขนง ใบข้างละ ๙-๑๑ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหหรือแบบขั้นบันไดก้านใบยาว ๓-๔ มม. หูใบรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๑-๔ มม. ร่วงง่าย
ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นช่อกระจุกตามง่ามใบ สีเหลือง กลิ่นหอม กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ วง ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. ก้านดอกยาว ๗-๙ มม. ค่อนข้างเกลี้ยง กลีบเลี้ยงแข็ง รูปไข่กลับ วงนอกกว้าง ๑-๒ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. วงในกว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. เกสรเพศผู้ ๕-๖ อัน ยาวประมาณ ๑ มม. อับเรณูยาวประมาณ ๑ มม. แกนอับเรณูสั้นมาก ดอกเพศเมียมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑-๒ มม. มี ๗-๑๑ ช่อง ยอดเกสรเพศเมียรูปกรวย ยาวประมาณ ๑ มม.
ผลแบบแยกแล้วแตก รูปกลมรี สีขาวนวล กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑-๒ ซม. มีขนเล็กน้อย เป็นร่องเห็นไม่ชัด กลีบเลี้ยงติดทนจนเป็นผลและมีสีน้ำตาล เมล็ดกว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๕-๗ มม. หนา ๓-๕ มม.
กาน้ำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคตะวันออก พบทั่วไปตามที่แห้งถึงที่ชื้น ตามป่าดิบ ป่าผลัดใบ ป่ารุ่น ในนาข้าว หรือริมน้ำ บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๖๐-๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่า.