กานพลูเป็นไม้ต้น สูง ๙-๑๒ ม. อาจสูงได้ถึง ๒๐ ม. เรือนยอดเป็นกรวยคว่ำ แตกกิ่งต่ำ ลำต้นตั้งตรง เปลือกเรียบสีเทา
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก รูปรี หรือรูปไข่กลับแคบ ๆ กว้าง ๘-๑๑ ซม. ยาว ๓๒-๓๗ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนเป็นมัน มีต่อมน้ำมันมาก เส้นแขนงใบข้างละ ๑๕-๒๐ เส้น ปลายโค้งจรดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว ๑-๒.๕ ซม.
ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ออกที่ปลายยอด ยาวประมาณ ๕ ซม. ก้านช่อดอกสั้นมากแต่อาจยาวได้ถึง ๑ ซม. ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ยาว ๒-๓ มม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ โคนติดกันเป็นหลอดยาว ๕-๗ มม. เมื่อเป็นผลขยายออกเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกรูปไข่ยาว ๓-๔ มม. กลีบดอก ๔ กลีบ รูปขอบขนานหรือกลม ยาว ๗-๘ มม. มีต่อมน้ำมันมาก ร่วงง่าย เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ร่วงง่ายก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๗ มม. รังไข่ถึงใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๔ มม.
ผลรูปไข่กลับแกมรี ยาว ๒-๒.๕ ซม. แก่จัดสีแดง มี ๑ เมล็ด
กานพลูเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของหมู่เกาะโมลุกกะนำไปปลูกในเขตร้อนทั่วโลก ในประเทศไทยนำมาปลูกบ้างแต่ไม่แพร่หลาย ชอบขึ้นในที่ดินร่วนซุย การระบายน้ำดี ความชื้นสูง ฝนตกชุก ขึ้นได้ดีบนพื้นราบถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๘๐๐-๙๐๐ ม.
ดอกกานพลูประกอบด้วยน้ำมันระเหยง่ายร้อยละ ๑๔-๒๓ ซึ่งมี eugenol เป็นสารสําคัญถึงร้อยละ ๖๐-๙๐, gallotannic acid ร้อยละ ๑๐-๑๓ สารอื่น ๆ ที่พบในปริมาณน้อย คือ Oleanolic acid, vanillin และ chromone ชื่อ eugenin กลูโคไซด์ของ sterol ซึ่งประกอบด้วย sitosterol, stigmasterol และ campesterol (Tyler, Brady and Robbers, 1980) ดอกกานพลูมีกลิ่นฉุนและรสเผ็ดร้อน ใช้เป็นยาขับลม แก้อาเจียน ชงน้ำร้อนดื่มระงับการอาเจียน ป่นเป็นผงแต่งกลิ่นอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนั้น ยังใช้น้ำมันกานพลูในทางเภสัชกรรมอีกด้วย ในทวีปเอเชียใช้ดอกกานพลูในการกินหมาก ในอินโดนีเซียใช้ก้านดอกผสมกับเส้นยาสูบมวนเป็นบุหรี่เรียกว่า “Keretek” (Tyler, Brady and Robbers, 1980; Leung, 1980; Bhatnagar ed., 1952).