ตะก้องเป็นไม้เถาหรือไม้ต้นขนาดเล็ก
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง ๑.๕-๕ ซม. ยาว ๕-๑๒ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบแหลม ขอบค่อนข้างเรียบหรือจักฟันเลื่อยถี่ เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ก้านใบยาวประมาณ ๕ มม. หูใบเล็ก ร่วงง่าย
ดอกสีเขียวอมเหลืองอ่อน ออกเป็นกระจุกตามซอกใบ ๑-๒ กระจุก ก้านดอกยาว ๔-๖ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกยาวประมาณ ๑ มม. ขอบมีขน กลีบดอก ๕ กลีบ พบน้อยที่มี ๔ กลีบ หรือ ๖-๗ กลีบ เมื่อตูมเรียงซ้อนเหลื่อม เมื่อบานกลีบตั้งขึ้น จานฐานดอกอวบน้ำ เกสรเพศผู้ ๒ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้น รูปลิ่ม ฝังอยู่บนยอดของจานฐานดอก รังไข่ฝังอยู่ในจานฐานดอก มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียเล็ก
ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๓-๑.๕ ซม. มีเมล็ด ๑-๒ เมล็ด ยาวประมาณ ๘ มม. ฝังอยู่ในเมือกเนื้อฟุ ๆ
ตะก้องมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๕๐-๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน.