ชบาโคมเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๓ ม. ส่วนที่ยังอ่อนมีขนรูปดาวขนาดเล็ก เมื่อแก่เกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปค่อนข้างกลมถึงรูปไข่กว้าง กว้าง ๓-๑๑ ซม. ยาว ๔-๑๒.๕ ซม. เป็นเหลี่ยมหรือเป็นแฉก ๓-๕ แฉก แฉกรูปสามเหลี่ยม ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนเว้า ขอบหยักมน จักฟันเลื่อยห่าง ๆ ถึงค่อนข้างเรียบ เส้นโคนใบ ๕-๗ เส้น แผ่นใบด้านบนมีขนรูปดาวปนกับขนธรรมดา ด้านล่างมีขนรูปดาวค่อนข้างหนาแน่น ก้านใบยาว ๓-๘ ซม. หูใบร่วงง่าย รูปใบหอกถึงรูปลิ่ม ยาว ๓-๔ มม. มีขน
ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ห้อยลง ก้านดอกเรียว ยาว ๓-๑๐ ซม. มีข้อต่อใกล้ปลายก้าน มีขนบริเวณเหนือข้อต่อก้านจะอ้วนและมีขนหนาแน่นกลีบเลี้ยงสีเขียว รูประฆัง ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๒ ซม. โคนเชื่อมติดกัน พองเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมปลายแหลมถึงเรียวแหลม กลางแฉกมีสันตามยาว ๑ สัน ด้านนอกมีขนรูปดาว ด้านในค่อนข้างเกลี้ยง กลีบดอกรูประฆัง สีส้มอ่อนหรือสีชมพู มีลายสีส้มเข้มหรือสีม่วงตามยาว มี ๕ กลีบ แต่ละกลีบรูปไข่กลับเบี้ยว กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๒.๕-๔ ซม. ปลายกลมถึงตัดตรง งุ้มเข้าข้างในด้านนอกมีขนประปราย ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวเท่ากับกลีบดอกหรือยาวกว่าเล็กน้อย โคนหลอดป่อง เหนือขึ้นไปเป็นรูปทรงกระบอกเรียว เกลี้ยงอับเรณูจำนวนมาก ติดใกล้ปลายหลอด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปคล้ายทรงกระบอก กว้างและยาวประมาณ ๒ มม. มี ๙-๑๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๔-๖ เม็ด ด้านบนมีขน ด้านล่างมีขนรูปดาว ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวเล็ก อยู่ภายในหลอดเกสรเพศผู้ ปลายแยกเป็น ๙-๑๒ แฉก โผล่พ้นหลอดเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียเล็ก
ชบาโคมเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในบราซิล นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลการติดผล.