ครามหมอคาร์เป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๑.๕ ม. ลำต้นมีริ้ว เมื่ออ่อนมีขนสั้นสีขาว เมื่อแก่เกลี้ยง
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียนแกนกลางยาว ๒-๑๐ ซม. เป็นร่องทางด้านบน ก้านใบยาว ๕-๘ มม. ทั้งแกนกลางและก้านใบมีขนสั้นสีขาว หูใบรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว ๑.๔-๒ มม. ใบย่อย ๗-๑๑ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเกือบตรงข้าม รูปรีหรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๑-๑.๘ ซม. ยาว ๑.๕-๓.๕ ซม. ปลายมนกลม มีติ่งหนามยาวประมาณ ๐.๕ มม. โคนมนหรือมนกลม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนสั้นสีขาวประปรายถึงหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบ ข้างละ ๕-๙ เส้น เห็นไม่ชัด ก้านใบย่อยยาว ๑-๒ มม. มีขนสั้นสีขาว หูใบย่อยยาวประมาณ ๑ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ยาว ๕-๗ ซม. ก้านช่อดอกยาวได้ถึง ๑.๕ ซม. ก้านและแกนช่อมีขนสั้นสีขาว แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ก้านดอก ยาว ๑.๕-๒ มม. ใบประดับรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว ๑-๑.๕ มม. ดอกรูปดอกถั่ว สีขาวนวล กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน กลีบดอกกลีบกลางและกลีบคู่ล่างมีขนที่ด้านนอก กลีบคู่ข้างขอบมีขนครุย เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ยาว ๖-๗ มม. เชื่อมติด ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกมี ๙ เกสร โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน ส่วนอีก ๑ เกสร แยกเป็นอิสระ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปคล้ายทรงกระบอก ยาวประมาณ ๕ มม. มีขนมี ๑ ช่อง ออวุล ๗-๑๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียโค้ง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปคล้ายทรงกระบอก กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๓-๔ ซม. มีขนแข็งเอนส่วนปลายมีจะงอยโค้งสั้น ๆ เมล็ดทรงสี่เหลี่ยม ค่อนข้างแบนมี ๗-๑๑ เมล็ด
ครามหมอคาร์เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ พบขึ้นตามทุ่งหญ้าริมแม่นํ้าปิงในเขตจังหวัดตาก ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๓๐๐-๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนตุลาคมถึงธันวาคม.