กาแซะชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงประมาณ ๒๐ ม. พบน้อยมากที่สูงถึง ๓๐ ม. เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างกลม กิ่งและใบเกลี้ยง กิ่งอ่อน ยอดอ่อน และช่อดอกมีขนเล็กน้อย ลำต้นมักแตกกิ่งต่ำ เปลือกสีน้ำตาล แตกเป็นร่องแล้วล่อนออกเป็นแผ่นเล็ก ๆ เปลือกในและเนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน เมื่อเปลือกเป็นแผลจะมีน้ำยางสีแดงไหลซึมออกมา
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ยาว ๒๐-๓๐ ซม. มีใบย่อย ๓-๕ คู่ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๓-๘ ซม. ยาว ๘-๑๘ ซม. ปลายเรียวแคบและเป็นติ่งแหลม โคนกว้าง เบี้ยวใบย่อยที่ปลายรูปรีกว้าง โคนสอบ แผ่นใบบาง ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจาง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น เส้นใบย่อยเด่นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบย่อยยาว ๐.๕-๑ ซม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งและตามง่ามใบใกล้ยอด ยาว ๑๕-๓๐ ซม. ดอกรูปดอกถั่ว สีแดงแกมม่วงเข้ม ยาวประมาณ ๒ ซม. กลิ่นหอม กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปถ้วย ขอบหยักซี่ฟันตื้น ๆ ๕ จัก มีขนสั้น ๆ กลีบดอก ๕ กลีบ เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณู ๙ อันติดกันเป็นแผ่น อีก ๑ อันเป็นอิสระ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มี ออวุล ๑-๓ เม็ด
ฝักพอง เปลือกหนาคล้ายหนัง แก่จัดสีคล้ำ รูปรีถึงรูปขอบขนาน คอดระหว่างเมล็ด โคนเรียวหรือสอบ ปลายงอเป็นจะงอย กว้าง ๕-๗ ซม. ยาว ๘-๑๕ ซม. เมื่อแก่จะแตกออกเป็น ๒ ซีก มี ๑-๓ เมล็ด สีน้ำตาลคล้ำ กว้างประมาณ ๓.๕ ซม. ยาวประมาณ ๕ ซม.
กาแซะชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะป่าดิบชื้นในที่ราบลุ่มและพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๘๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่าและมาเลเซีย
เนื้อไม้ใช้ก่อสร้างได้แต่ไม่ทนทานเพราะมอดและแมลงชอบเจาะ ส่วนมากใช้ทำฟืนและถ่าน ยอดอ่อนใช้กินเป็นผักสด