กาซะลองคำเป็นไม้ต้น สูง ๖-๑๕ ม. ลำต้นสีเทา แตกสะเก็ดเล็กน้อย มีช่องอากาศขนาดใหญ่ทั่วไป
ใบประกอบแบบขนนกสองถึงสามชั้น เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ยาว ๒๐-๖๐ ซม. มีใบย่อย ๓-๕ คู่ รูปรี รูปใบหอก รูปใบหอกแกมรูปไข่ หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๔.๖ ซม. ยาว ๕-๑๒ ซม. ปลายแหลมยาว โคนเบี้ยวแหลม ขอบเรียบ บริเวณโคนแผ่นใบด้านล่างมีต่อมเล็ก ๆ เป็นกลุ่มหนาแน่น ก้านใบย่อยยาว ๐.๓-๑.๑ ซม. ด้านบนเป็นร่อง
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ยาว ๑-๑.๗ ซม. ออกเป็นกลุ่มตามลำต้นและกิ่งแก่ มีขนนุ่มประปราย ก้านดอกยาวประมาณ ๑ ซม. มี ๓-๘ ดอก กลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอดคล้ายรูปกระสวยแกมรูปไข่ ยาว ๑.๕-๒.๒ ซม. สีน้ำตาลแดงหรือม่วงอมแดง มีขนนุ่มทั่วไป หลอดกลีบเลี้ยงแยกเว้าลึกลงมาตามรอยประสานด้านหน้าถึงประมาณกึ่งกลางหลอด กลีบดอกสีเหลืองอมส้ม ติดกันเป็นรูปทรงกระบอก ยาว ๔-๔.๗ ชม. ค่อย ๆ ผายออกและกว้างที่สุดใกล้ส่วนปลาย กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ปลายหลอดแยกเป็นกลีบมนสั้น ๆ ขนาดไล่เลี่ยกัน ๕ แฉก เกสรเพศผู้ ๔ อัน ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอกเล็กน้อยบริเวณโคนก้านชูอับเรณูมีขนยาวทั่วไป รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกยาวเรียวคล้ายถั่วฝักยาว ยาว ๓๐-๔๕ ซม. เมื่อผลแก่จะบิดเวียนไม่เป็นระเบียบและแตกออกเป็น ๒ ซีก แต่ละซีกกว้าง ๔-๗ มม. สีเทา ค่อนข้างบาง ภายในผลมีแกนทรงกระบอกเล็ก ๆ ยาวเรียวมีเมล็ดติดอยู่จำนวนมาก เมล็ดแบน มีปีกยาวแคบ ด้านข้างบางทั้ง ๒ ด้าน เมล็ดรวมปีกกว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๑.๓-๑.๕ ซม.
กาซะลองคำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณชื้นและชายป่าดิบแล้งตามเชิงเขา จนถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ ๑,๐๐๐ ม. พบทั่วไปตามเขาหินปูนที่ชุ่มชื้นออกดอกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ในต่างประเทศ พบที่จีนตอนใต้ พม่า ลาว และเวียดนามตอนเหนือ.