ก้างปลาเมืองจันทน์

Cleisostoma chantaburiense Seidenf.

กล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางยอด ใบเป็นแท่งกลมยาวเรียงเวียน ช่อดอกออกตามซอกใบ ห้อยลง ดอกสีเหลืองอมเขียว

ก้างปลาเมืองจันทน์เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางยอดต้นกลมยาว สูง ๑๕-๒๕ ซม. รากใหญ่และยาวกระจายตามต้น

 ใบเป็นแท่งกลมยาว เรียงเวียนเป็นระยะห่างกัน ๑-๒ ซม. กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๕-๖ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบหรือตามข้อ ห้อยลง ก้านช่อยาว ๘-๑๒ ซม. แกนกลางยาวใกล้เคียงกันดอกสีเหลืองอมเขียว ขนาดประมาณ ๑.๒ ซม. กลีบเลี้ยงกลีบบนรูปคล้ายเรือ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๔-๕ มม.


กลีบเลี้ยงด้านข้างรูปขอบขนาน ปลายตัดมน กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๕-๖ มม. กลีบดอกด้านข้างรูปไข่ กว้างและยาวประมาณ ๓ มม. ปลายมน กลีบปากอยู่ทางด้านล่าง มีเดือยเป็นถุงยาว ๖-๗ มม. ภายในถุงมีผนังกั้นกลางตามยาว ช่วงปลายกลีบรูปสามเหลี่ยมอวบหนา ปลายแหลมเป็นจะงอยหูกลีบปากรูปสามเหลี่ยม ปลายเรียวแหลม เส้าเกสรสูงประมาณ ๓ มม. โคนเส้าเกสรมีแผ่นเนื้อเยื่อขวางปากถุง ปลายแผ่น แยกเป็น ๒ แฉก และงุ้มลง มีขนละเอียดปกคลุม ฝาปิดกลุ่ม เรณูสีนวล กลุ่มเรณูมี ๒ คู่ แต่ละคู่ประกอบด้วยกลุ่มเรณูขนาดใหญ่และเล็กเกาะกันเป็นรูปเกือบกลม ก้านกลุ่มเรณูเป็นแผ่นใสกว้าง ขอบด้านข้างพับลง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านดอกรวมรังไข่ยาว ๖-๘ มม.

 ก้างปลาเมืองจันทน์เป็นกล้วยไม้ถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ก้างปลาเมืองจันทน์
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cleisostoma chantaburiense Seidenf.
ชื่อสกุล
Cleisostoma
คำระบุชนิด
chantaburiense
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Seidenfaden, Gunna
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1908- )
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง