การขี้มอด

Acrocarpus fraxinifolius Wight ex Arn.

ชื่ออื่น ๆ
ก้วยกี่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ไก่ (กำแพงเพชร); ขางช้าง, ขางแดง (ลำปาง); แดงน้ำ, พระเจ้าห้าพระองค์
ไม้ต้น กิ่งอ่อน ยอดอ่อน ใบด้านล่าง และก้านใบ มีขนนุ่ม ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีเขียว ฝักค่อนข้างแบนและคอด แตกตามรอยประสานเมื่อแห้ง

กางขี้มอดเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๐ ม. โคนต้นมักมีพอนเปลือกเรียบ สีขาวอมเทา เปลือกในสีน้ำตาล กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนนุ่มสีน้ำตาลอมเหลือง

 ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ กว้าง ๑๐-๒๕ ซม. ยาว ๒๐-๖๐ ซม. ก้านใบประกอบยาว ๕-๒๐ ซม. มีขนนุ่มสีน้ำตาลอมเหลือง แยกแขนงตรงข้ามกัน ๓-๕ คู่ แต่ละก้านมีใบย่อย ๔-๙ คู่ รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๗ ซม. ยาว ๒-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนค่อนข้างเบี้ยว ใบแก่ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนนุ่มสั้น ๆ ก้านใบย่อยสั้น

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๒๐-๒๕ ชม. ดอกสีเขียว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ยาว ๓-๔ มม. ปลายจัก ๕ แฉก มีขนนุ่ม กลีบดอก ๕ กลีบ ยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนนุ่ม เกสรเพศผู้ ๕ อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๓ เท่าของกลีบเลี้ยง ปลายก้านสีแดง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑๕-๒๐ เม็ด

 ฝักค่อนข้างแบน กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๘-๑๕ ซม. คอดเล็กน้อยเป็นตอน ๆ รอยประสานด้านบนเป็นสันกว้าง ๓-๕ มม. ยาวตลอดทั้งฝัก ก้านผลยาว เมล็ดแบน สีน้ำตาล

 กางขี้มอดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นในป่าดิบตามสันเขา ที่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง ๑,๑๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ลาว และอินโดนีเซีย (เกาะสุมาตราและเกาะชวา)

 เนื้อไม้ใช้ก่อสร้างภายในที่ไม่รับน้ำหนักมากใช้ทำเครื่องเรือน และทำไม้อัด.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
การขี้มอด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Acrocarpus fraxinifolius Wight ex Arn.
ชื่อสกุล
Acrocarpus
คำระบุชนิด
fraxinifolius
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wight, Robert
- Arnott, George Arnott Walker
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wight, Robert (1796-1872)
- Arnott, George Arnott Walker (1799-1868)
ชื่ออื่น ๆ
ก้วยกี่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ไก่ (กำแพงเพชร); ขางช้าง, ขางแดง (ลำปาง); แดงน้ำ, พระเจ้าห้าพระองค์
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม