ต่อไส้ชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น อาจสูงได้ถึง ๑๔ ม. เปลือกเรียบ สีเทาอมน้ำตาลหรือสีเทา
ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียน มีใบย่อย ๓-๕ ใบ ใบย่อยใบกลางใหญ่และยาวกว่าอีก ๒ ใบ ด้านข้าง ยาวได้ถึง ๔ เท่าของใบด้านข้าง ใบย่อยรูปคล้ายสามเหลี่ยม รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๒๒ ซม. ยาว ๒.๕-๓๕ ซม. ปลายมนเป็นติ่งแหลมถึงเรียวแหลม โคนเบี้ยวเล็กน้อย สอบเรียวถึงรูปลิ่ม ขอบค่อนข้างเรียบ หยักมนห่าง ๆ หรือจักฟันเลื่อย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนค่อนข้างเกลี้ยง ด้านล่างเกลี้ยงถึงมีขนยาวนุ่มคล้ายไหมหรือมีขนหยาบแข็ง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๕ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแหห่าง ๆ ถึงแบบขั้นบันได เห็นไม่ชัด ก้านใบรูปทรงกระบอก ด้านบนแบนถึงเป็นร่อง ยาว ๔.๕-๒๐ ซม. ก้านใบย่อยยาวได้ถึง ๒.๕ มม. หรือไร้ก้าน
ดอกแยกเพศร่วมต้นหรือต่างต้น ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ส่วนมากเป็นช่อเดี่ยวไม่แยกแขนง ยาวได้ถึง ๔๐ ซม. พบน้อยที่ซอกใบมีช่อดอก ๒ ช่อ ช่อดอกค่อนข้างเกลี้ยงถึงมีขนหยาบแข็ง ช่อย่อยมีดอกเดียวหรือเป็นช่อกระจุกขนาดเล็ก ก้านช่อดอกยาว ๑ ใน ๕ ถึง ๑ ใน ๓ ของความยาวช่อ ก้านดอกสั้นมากถึงไร้ก้าน ใบประดับรูปลิ่มแคบ เล็กมาก ดอกสีขาว เบี้ยว สมมาตรด้านข้าง กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ สีเขียวถึงสีค่อนข้างขาว เรียงเป็น ๒ วง รูปไข่ถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๐.๘-๒ มม. ยาว ๑-๒.๕ มม. กลีบวงใน ๒ กลีบ ยาวและกว้างกว่ากลีบวงนอกอีก ๒ กลีบ ขอบเรียบหรือหยักซี่ฟันถี่ ส่วนมากมีขนครุยสั้น ด้านนอกเกลี้ยงถึงมีขนสั้นประปรายโดยเฉพาะกลางกลีบ กลีบดอก ๔ กลีบ แต่ละกลีบรูปคล้ายช้อน ยาว ๑-๒.๒ มม. มีก้านกลีบยาวประมาณ ๒ ใน ๓ ของความยาวกลีบ ปลายแผ่นกลีบเรียบหรือเว้าเป็น ๒ แฉก ขอบค่อนข้างเกลี้ยงถึงมีขนยาวนุ่มแบบขนแกะหนาแน่น บริเวณกลางกลีบด้านในมีเกล็ดที่ไม่มีสัน ๒ เกล็ด มีขนยาวนุ่มแบบขนแกะหนาแน่น ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๘ เกสร มีก้านชูอับเรณูยาวเท่า ๆ กัน ยาวพ้นกลีบดอก ส่วนโคนก้านชูอับเรณูมีขนยาวนุ่ม อับเรณูเกลี้ยง ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ดอกเพศเมียมีจานฐานดอกสีส้ม เป็นพูตรงกับกลีบดอก ยาว ๐.๒-๐.๘ มม. เกลี้ยงหรือมีขนประปราย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีก้านสั้น มี ๒ ช่อง เว้าลึกเป็นพูรูปไข่กลับ ๒ พู เกลี้ยงหรือมีขน แต่ละพูมี ๑ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑-๑.๕ มม. เกลี้ยงหรือมีขนเป็นเส้นยาวนุ่มกระจายห่าง ๆ ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉกยาว ๒ แฉก
ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง เจริญมาจากรังไข่ ๑ ช่อง รูปทรงค่อนข้างกลมถึงทรงรูปไข่กลับ กว้าง ๓.๕-๘ มม. ยาว ๐.๔-๑.๓ ซม. ผนังผลบาง เกลี้ยง ผลสุกสีส้มถึงสีแดง เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม มี ๑ เมล็ด ไม่มีเยื่อหุ้มเมล็ด
ต่อไส้ชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค เป็นพรรณไม้ที่มีลักษณะของใบผันแปรได้หลายแบบ ช่อดอกมีทั้งช่อเดี่ยวและช่อที่แยกแขนง ซึ่งจัดจำแนกเป็นกลุ่มย่อยได้หลายกลุ่ม พบขึ้นในป่าหลายประเภท ตามหาดทราย ป่าดิบเขา ป่าไผ่ หนองน้ำทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย ขึ้นได้ในดินแบบต่าง ๆ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑,๙๐๐ ม. ออกดอกเดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายน เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบขึ้นตามเขตร้อนทั่วไปทางใต้ของอเมริกาและแอฟริกา มาดากัสการ์ เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประโยชน์ เนื้อไม้แข็งแต่ไม่ทนทาน ใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ที่ไม่ต้องการความทนทานมากนักและใช้ในร่ม เช่น ทำด้ามมีด ไม้เท้า ผลกินได้ เมื่อสุกมีรสหวาน.