ตะกวมเป็นไม้ต้น สูง ๕-๒๐ ม. กิ่งมีขนสั้นนุ่ม
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๑๐ ซม. ยาว ๘-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่มหรือเฉียง ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนประปรายและขนต่อมทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาวได้ถึง ๓ ซม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงคล้ายช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกที่ปลายยอดและซอกใบ ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น วงใบประดับรูประฆังแคบหรือรูปทรงกระบอก ยาว ๒-๓ มม. ใบประดับเรียงเป็น ๓-๔ ชั้น ซ้อนเหลื่อม ชั้นนอกรูปไข่ มีขนประปราย ปลายมนหรือมนกลม ชั้นในรูปไข่แกมรูปใบหอกหรือรูปขอบขนาน ปลายมน มีขนประปราย ฐานดอกร่วมแบนเกลี้ยง ดอกย่อยในช่อมีแบบเดียวเป็นดอกย่อยวงในซึ่งเป็นดอกสมบูรณ์เพศ รูปหลอด เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. กลีบเลี้ยงลดรูปเป็นขนแข็ง กลีบดอกสีม่วงหรือสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๖-๗ มม. มีขนต่อม ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนานยาวประมาณ ๒ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร อับเรณูเชื่อมติดกันทางด้านข้างและหุ้มก้านยอดเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียกลม สีม่วง ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก เรียว ยาวประมาณ ๒ มม.
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปลูกข่าง มี ๓-๔ เหลี่ยม ยาวประมาณ ๒ มม. มีสันไม่เด่นชัด มีขนแข็งสั้นและขนต่อม และมีกลีบเลี้ยงติดทนแบบแพปพัส ลักษณะเป็นขนแข็ง เรียง ๒ ชั้น ชั้นนอกสั้น ชั้นในยาว ๖-๗ มม. สีขาว มีเมล็ด ๑ เมล็ด
ตะกวมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ พบในป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐-๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงกุมภาพันธ์ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา เมียนมา จีน เวียดนาม มาเลเซีย และนิวกินี.
หมายเหตุ ตะกวมเดิมเขียนคำบรรยายลักษณะในหนังสืออนุกรมวิธานพืช อักษร ก ภายใต้ชื่อ กะพวม มะพร้าว Vernonia arborea Buch.-Ham. var. arborea ต่อมาเมื่อมีการศึกษาพืชวงศ์ Asteraceae (Compositae) ของไทย ซึ่งรวมชื่อ Vernonia arborea Buch.-Ham. var. javanica (Blume) C. B. Clarke และ Vernonia arborea Buch.-Ham. var. arborea ไว้ภายใต้ชื่อ Vernonia arborea Buch.-Ham. คำบรรยายลักษณะของตะกวมในครั้งนี้จึงเป็นการรวมลักษณะทั้งหมดที่เคยแยกเป็นพันธุ์ (varieties)