ครามป่า ๔

Tephrosia purpurea (L.) Pers, subsp. purpurea.

ชื่ออื่น ๆ
จ๊าคราม, จ๊าครามดอกแดง (เหนือ)
ไม้พุ่ม ทุกส่วนมีขนนุ่ม ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อย ๕-๒๕ ใบ เรียงตรงข้ามรูปใบหอกกลับ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ปลาย กิ่งหรือตรงข้ามใบ ดอกรูปดอกถั่ว สีแดงถึงสีม่วง ผลแบบผลแห้งแตกลองแนว รูปขอบขนาน เมล็ดแบนรูปสี่เหลี่ยมคางหมูถึงรูปทรงรี มี ๒-๘ เมล็ด สีน้ำตาลอ่อน แก่จัดสีดำ

ครามป่าชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูง ๓๐-๖๐ ซม. ทุกส่วนมีขนนุ่ม

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน แกนกลางยาว ๑-๑๕ ซม. ใบย่อย ๕-๒๕ ใบ เรียงตรงข้ามรูปใบหอกกลับ กว้าง ๐.๒-๑.๑ ซม. ยาว ๐.๕-๓ ซม. ปลายมนถึงเว้าตื้น โคนแหลมถึงป้าน ขอบเรียบ ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนนุ่ม เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๑๓ เส้น เรียงขนานเป็นแนวเฉียงไปทางปลายใบ ก้านใบย่อยสั้นหูใบกว้าง ๐.๑-๒ มม. ยาว ๒-๙ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ปลายกิ่งหรือตรงข้ามใบ ก้านช่อดอกยาว ๑๐-๑๕ ซม. ดอกรูปดอกถั่วสีแดงถึงสีม่วง ยาว ๔-๙ มม. ก้านดอกยาว ๒-๖ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก กลีบคอก ๕ กลีบ กลีบกลางรูปไข่กว้าง ปลายกลีบมน กว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๔-๗ มม. กลีบคู่ข้างกว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๓-๖ มม. กลีบคู่ล่างติดกันเป็นรูปท้องเรือ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๒-๕ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร โคนก้านชูอับเรณูติดรวมเป็นหลอด ยาว ๔-๖ มม. ปลายแยกเป็นก้านอิสระ ยาวไม่เท่ากัน ยาว ๐.๘-๓ มม. อับเรณูเล็กมาก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุล ๕-๘ เม็ด ก้านยอด เกสรเพศเมียยาว ๒-๕ มม. ปลายบิดโค้ง ยอดเกสรเพศเมียเรียวแหลม

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปขอบขนานปลายแหลม ยาวประมาณ ๔ ซม. เมล็ดแบน รูปสี่เหลี่ยมคางหมูถึงรูปทรงรี กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๓-๔ มม. สีนํ้าตาลอ่อน แก่จัดสีดำ มี ๒-๘ เมล็ด

 ครามป่าชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบตามทุ่งหญ้าไร่ร้าง ริมทาง ริมน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ดินทราย ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๑,๒๐๐ ม.ในต่างประเทศพบในเขตร้อนชื้น

 ประโยชน์ ใช้ทำเป็นปุ๋ยพืชสด ในอินเดียใช้ทุกส่วนของพืชประกอบเป็นยาบำรุง แก้กระหาย ในออสเตรเลียมีรายงานว่าพืชนี้มีพิษต่อปศุสัตว์

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ครามป่า ๔
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tephrosia purpurea (L.) Pers, subsp. purpurea.
ชื่อสกุล
Tephrosia
คำระบุชนิด
purpurea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
subsp. purpurea.
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- -
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
จ๊าคราม, จ๊าครามดอกแดง (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายพงษ์ศักดิ์ พลตรี