กระแจะเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น หรือไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๒-๑๐ ม. ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมยาวทั่วไป ลำต้นส่วนมากคดงอ แตกกิ่งก้านระเกะระกะไม่เป็นระเบียบ เปลือกสีขาวปนเขียว แตกสะเก็ดเล็ก ๆ เป็นร่องตื้น ๆ
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ออกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๒-๓ หรือ ๔ ใบ ตามกิ่งมีปุ่มปมของกลุ่มใบประกอบปรากฏชัดเจน มีใบย่อย ๑-๓ คู่ เรียงตรงข้ามปลายแกนกลางมีใบย่อยเดี่ยว ๆ ที่ไม่มีก้านใบติดกับใบย่อยคู่ปลาย ใบย่อยคู่อื่น ๆ ไม่มีก้าน ก้านใบประกอบยาว ๑-๖ ซม. แกนกลางยาว ๓-๗ ซม. ตามก้านและแกนกลางมีครีบลักษณะคล้ายแผ่นใบแผ่กว้างมากหรือน้อยปรากฏอยู่ทั้ง ๒ ข้าง ใบย่อยรูปรี รูปไข่ หรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๓-๓.๔ ซม. ยาว ๑-๙ ซม. ปลายแหลมมนหรือเว้าเล็กน้อย โคนสอบ ขอบจักมนห่าง ๆ แผ่นใบและครีบของแกน
ช่อดอกแบบช่อกระจะออกเดี่ยวตามกิ่งด้านข้างหรือออกมาจากกลุ่มใบประกอบ ยาว ๑.๒-๓.๔ ซม. มีขนประปราย บางครั้งมีเพียง ๑-๒ ดอก ดอกเล็ก สีขาวอมเหลือง กลิ่นหอมเย็น กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ กลีบดอก ๔ กลีบ ยาวประมาณ ๕ มม. มีต่อมน้ำมันทั่วไป เกสรเพศผู้ ๘ อัน มีจานฐานดอกรูปวงแหวนล้อมรอบรังไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑-๔ เม็ด
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๗-๑.๒ ซม. มีต่อมน้ำมันทั่วไป สุกสีดำ รสเปรี้ยว มี ๑-๔ เมล็ด
กระแจะมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นตามป่าเบญจพรรณที่แห้งแล้งทั่วไป ในต่างประเทศพบที่มณฑลยูนานของจีน ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ พม่า และภูมิภาคอินโดจีน
เนื้อไม้สีน้ำตาลปนเหลืองอ่อน เป็นมันเลื่อม เนื้อหยาบ แต่สม่ำเสมอ แข็ง หนักปานกลาง ค่อนข้างเหนียว ใช้ในงานแกะสลัก ทำตู้ และหีบใส่ของที่ต้องการกันตัวแมลง เปลือกและไม้ใช้ฝนกับน้ำเป็นเครื่องหอมประทินผิวแบบโบราณ ในพม่ายังนิยมใช้เปลือกและไม้ฝนผสมกับไม้จันทน์ (Sandalwood) จนถึงปัจจุบัน (Rodger, 1963) ส่วนรากใช้ทำยาได้