ต้นใบหูดเป็นไม้พุ่ม สูง ๒-๓ ม. ลำต้นเกลี้ยงภายในคล้ายฟองน้ำสีขาว ตรงกลางกลวง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานหรือรูปใบหอกกว้าง ๑.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๕-๑๑ ซม. ปลายเรียวแหลมโคนรูปลิ่ม ขอบจักฟันเลื่อยคล้ายหนามปลายมีต่อม แผ่นใบเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๒ เส้น โค้งจดกันใกล้ขอบใบ ก้านใบยาว ๑-๒.๕ ซม. หูใบรูปเส้นด้าย ยาว ๑-๒ มม. บางครั้งแยก ๒-๓ แฉก ร่วงง่าย
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกบนเส้นกลางใบประมาณจุดกึ่งกลางใบ ช่อดอกเพศผู้มี ๗-๑๒ ดอก ใบประดับคล้ายหูใบ ยาวประมาณ ๑ มม. ก้านดอกยาว ๑-๒ มม. กลีบเลี้ยง ๓-๔ กลีบ สีเขียวอมม่วงหรือสีม่วง รูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ปลายแหลม เกลี้ยง ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้เท่าจำนวนกลีบเลี้ยง ติดระหว่างกลีบเลี้ยง ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๑ มม. เกลี้ยง อับเรณูมี ๒ ช่อง ติดด้านหลัง ยาว ๐.๒-๐.๓ มม. จานฐานดอกคล้ายหมอนเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ มม. หนาประมาณ ๐.๕ มม. ช่อดอกเพศเมียมี ๑-๓ ดอก พบน้อยที่มี ๕ ดอก คล้ายดอกเพศผู้ ก้านดอกสั้นมาก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๓-๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปทรงกระบอก ยอดเกสรเพศเมียแยก ๓-๕ พู พับงอ
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรี กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๗-๘ มม. เป็นพูตามจำนวนเมล็ด ที่ปลายมีกลีบเลี้ยงและเกสรเพศเมียติดทน ก้านผลสั้น เมล็ดมีเกราะแข็ง มี ๒-๓ เมล็ด เปลือกบาง
ต้นใบหูดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบขึ้นตามที่ลาดชันใต้ร่มเงาในป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ ๑,๑๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงมีนาคม ผลแก่เดือนสิงหาคมถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่เนปาล อินเดียตอนเหนือภูฏาน เมียนมาตอนเหนือ จีนตอนใต้ และเวียดนามตอนเหนือ
ประโยชน์ มีศักยภาพนำมาพัฒนาเป็นไม้ประดับเนื่องจากลักษณะช่อดอกที่ออกบนเส้นกลางใบดูแปลกตา และเป็นไม้พุ่มแตกกิ่งต่ำ.