ฆ้องสามย่านชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูง ๐.๓-๑.๒๕ ม. ลำต้นอวบน้ำ รูปคล้ายทรงกระบอกตั้งตรง มักไม่แตกกิ่ง เกลี้ยงหรือมีขนประปราย ปล้องที่อยู่ตอนล่างสั้นกว่าปล้องกลางหรือปล้องตอนบน
ใบเดี่ยว อวบน้ำ เรียงตรงข้าม มีได้หลายแบบกว้าง ๕-๗ ซม. ยาว ๘-๑๕ ซม. ใบที่อยู่ตอนล่างของลำต้นเป็นใบเดี่ยว รูปไข่ ปลายแหลมหรือสอบเรียว โคนกว้าง ขอบหยักซี่ฟันแกมเป็นคลื่น ก้านใบสั้นหรือไม่มีใบที่อยู่ตอนกลางหยักเป็นแฉกลึกคล้ายแบบขนนกชั้นเดียวหรือสองชั้น ๓-๕ แฉก แฉกแคบ รูปขอบขนานหรือรูปแถบ กว้าง ๒.๕-๘ ซม. ยาว ๒-๑๔ ซม. ปลายแหลมหรือสอบเรียว ขอบจักฟันเลื่อยแกมหยักซี่ฟันหยาบหรือจักเป็นครุย สีเขียวอ่อน มีนวล ใบอ่อนอาจแต้มด้วยสีม่วงแดง ก้านใบอวบน้ำ ยาว ๒.๕-๔ ซม. แบนเป็นร่องทางด้านบน โคนก้านแผ่กว้างกึ่งโอบลำต้น ใบที่อยู่ตอนบนเล็กและแคบกว่ามาก ขอบมักเรียบ
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ยาว ๑๐-๓๐ ซม. มีขนประปราย ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแต่ละช่อมีดอกจำนวนมากและค่อนข้างหนาแน่น ก้านดอกยาว ๑-๒ ซม. ใบประดับขนาดเล็ก รูปแถบ กลีบเลี้ยงสีเขียว ยาว ๐.๔-๑ ซม. เกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อยประมาณ ๒ มม. ปลายแยกเป็นแฉกลึก ๔ แฉก รูปใบหอกแกมรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๓ มม. ยาว ๒.๕-๘ มม. ปลายสอบแหลม กลีบดอกสีนวลถึงสีเหลืองอ่อนหรือสีเหลือง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. โคนหลอดโป่งพอง มีสีเขียว ปลายหลอดสีค่อนข้างเหลืองแยกเป็นแฉก ๔ แฉก กางออกตั้งฉากกับหลอดกลีบดอกแฉกสีเหลืองสด รูปไข่ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง ๒-๕ มม. ยาว ๐.๓-๑ ซม. ปลายแหลมและมีติ่งหนาม เกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม เกสรเพศผู้ ๘ เกสร ติดอยู่ที่หลอดกลีบดอก เรียงเป็น ๒ ชั้น ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูอยู่ภายในหลอดกลีบดอกหรือโผล่พ้นหลอดกลีบดอกเล็กน้อย มีต่อม ๔ ต่อมที่โคนหลอดรูปแถบ ยาว ๒.๕-๓ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๔ รังไข่ ทรงรูปไข่ ยาว ๕-๖ มม. แนบชิดกัน แยกจากกันตลอด หรือตอนโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย แต่ละรังไข่เกลี้ยง มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ ๒.๕ มม. เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม อยู่ต่ำกว่าเกสรเพศผู้
ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว มี ๔ ผล อยู่ชิดกัน รูปกระสวย ยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก
ฆ้องสามย่านชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามที่ลุ่มทั่วไป ในต่างประเทศพบที่เมียนมา จีนตอนใต้ ลาว เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย.
ประโยชน์ ใบและน้ำคั้นจากต้นมีสรรพคุณทางยา.