กากหมากเป็นพืชเบียนล้มลุก อาศัยเกาะกินน้ำเลี้ยงจากพืชอื่น ลำต้นมีขนาดไม่แน่นอน ความยาวรวมส่วนที่เชื่อมติดกับพืชให้อาศัยและช่อดอก ๑๐-๒๕ ซม. ส่วนที่เชื่อมติดกับรากของพืชให้อาศัยเป็นก้อนปุ่มปมลักษณะไม่แน่นอนประกอบด้วยก้อนขนาดเล็กหลายก้อนติดกัน แต่ละก้อนกลมรีผิวเป็นสะเก็ดหยาบ ๆ รูปดาว
ใบไม่มีสีเขียว แต่มักมีสีเหลืองอ่อนถึงสีเหลืองเนื่องจากเป็นพืชเบียนที่ไม่สังเคราะห์แสง ลดรูปจนมีลักษณะเป็นกาบหุ้มลำต้นและโคนช่อดอก มีจำนวน ๔-๖ ใบ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก กว้างและยาวไม่แน่นอน เท่าที่พบกว้างมากที่สุด ประมาณ ๓.๕ ซม. ยาวประมาณ ๕ ซม.
ดอกแยกเพศต่างต้น ออกเป็นช่อเชิงลดตามปลายยอดต้นหนึ่งมีเพียงช่อเดียวแต่มีดอกจำนวนมาก ช่อดอกเพศผู้ยาวคล้ายกระบอง มีดอกเพศผู้ติดอยู่เป็นระยะ ๆ ดอกเบี้ยว กลีบดอก ๔-๖ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑ ซม. ช่อดอกเพศเมียรูปไข่ยาว ๆ มีดอกเพศเมียขนาดเล็กประมาณเท่าปลายดินสอดำเรียงอัดกันแน่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ผลเล็กมาก
กากหมากมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นบนพื้นที่ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๑,๖๐๐ ม. เกาะเบียนพืชหลายชนิด เช่น พืชในวงศ์ Leguminosae พืชในวงศ์ Vitaceae (Vitidaceae) และพืชในสกุล Ficus ออกดอกระหว่างเดือนกันยายนถึงตุลาคม ออกดอกนอกฤดูกาลบ้าง แต่ไม่บ่อยนัก ในต่างประเทศพบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย เกาะสุมาตรา จนถึงเกาะบอร์เนียว.