-
ชื่ออื่น ๆ
-
พ่อค้าตีเมีย (เหนือ)
กับแก้เป็นพืชใกล้เคียงเฟิร์น ไร้ดอก มีเหง้าทอดไปตามพื้นดิน ลำต้นตั้งตรง สูง ๑๕-๗๐ ซม. มักแตกกิ่งแบบขนนกสามชั้นบริเวณตอนบนของลำต้น ใบที่เกิดตามลำต้นมีแบบเดี่ยว เรียงตัวกันอยู่ห่าง ๆ และเกาะแนบลำต้น รูปไข่หรือรูปคล้ายสามเหลี่ยม ปลายเรียวแหลม โคนมีขนยาว ขอบ
จักฟันเลื่อย ใบที่กิ่งมี ๒ แบบ ใบแถวข้างเล็กมาก ยาวไม่เกิน ๕ มม. รูปรีหรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ซีกบนโค้งเว้าเล็กน้อยคล้ายรูปเคียว ปลายแหลม โคนมนหรือเป็นรูปหัวใจและมีขนขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อย ใบแถวกลางสีเงินและมีขน ขนาดเล็กกว่าใบแถวข้าง รูปไข่ปลายเรียวแหลม ขอบหยักซี่ฟัน อับสปอร์เกิดบนส่วนที่เรียกว่า สตรอบิลัส (strobilus) ซึ่งออกที่ปลายกิ่ง สตรอลัสประกอบด้วยใบที่มีอับสปอร์หรือสปอโรฟิลล์ (sporophyll) รูปใบหอกขอบจักฟันเลื่อยจำนวนมาก เรียงเป็น ๔ แถวรอบแกนและซ้อนกันแน่นเป็นแท่ง กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๓-๕ ซม. สร้างสปอร์ ๒ ชนิด คือ แมโครสปอร์ (macrospore) จำนวน ๔ สปอร์ และไมโครสปอร์ (microspore) จำนวนมาก
กับแก้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ขึ้นตามพื้นดินหรือบนต้นไม้ในป่าดิบชื้นที่ระดับต่ำจนถึงสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่า มาเลเซีย และภูมิภาคอินโดจีน.