กัดลิ้น

Walsura trichostemon Miq.

ชื่ออื่น ๆ
ขี้อ้าย (ลำปาง), มะค่าลิ้น (อุตรดิตถ์, ปราจีนบุรี), ลำไยป่า (อุตรดิตถ์)
ไม้ต้น กิ่งอ่อนและช่อดอกมีขนสีน้ำตาล ใบประกอบแบบขนนกมีสามใบย่อย เรียงสลับ ใบย่อยรูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาวนวล ผลแบบผลมีเนื้อ รูปกลมผลสุกสีเหลือง

กัดลิ้นเป็นไม้ต้น สูง ๕-๑๒ ม. เรือนยอดแผ่กว้างถึงค่อนข้างกลม กิ่งอ่อนมีขนสั้นสีน้ำตาลอ่อนและมีช่องอากาศเห็นชัดเจน

 ใบประกอบแบบขนนกมีสามใบย่อย เรียงสลับ ใบย่อยใบกลางใหญ่ที่สุด ใบย่อยคู่ข้างอยู่ตรงข้ามกัน ก้านใบประกอบยาว ๕-๑๐ ซม. ตรงส่วนที่เชื่อมกับก้านใบย่อยป่องเป็นข้อใบย่อยรูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๓.๕-๖.๕ ซม. ยาว ๗-๑๕ ซม. ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีอ่อนกว่า ปลายเรียวแหลม โคนสอบ เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๐ เส้น นูนเด่นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบย่อยยาว ๑-๔.๕ ซม. โคนและปลายก้านป่องเป็นข้อและทำมุมกับแผ่นใบย่อย

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๕-๑๐ ซม. มีขนสั้นสีน้ำตาลอ่อน ดอกเล็ก สีขาวนวล เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๘ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เล็กมาก รูปสามเหลี่ยม มีขนสั้น กลีบดอก ๕ กลีบ รูปขอบขนานปลายมน ยาวประมาณ ๖ เท่าของกลีบเลี้ยง ด้านนอกมีขนสั้น เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง

 ผลแบบผลมีเนื้อ กลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ ซม. มีขนสั้นสีน้ำตาลอ่อน เมื่อสุกสีเหลือง มีเมล็ดกลม ๑ เมล็ด เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๗ มม. มีเยื่อนุ่มหุ้ม

 กัดลิ้นมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นตามป่าดิบแล้งที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่าและกัมพูชา

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กัดลิ้น
ชื่อวิทยาศาสตร์
Walsura trichostemon Miq.
ชื่อสกุล
Walsura
คำระบุชนิด
trichostemon
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1811-1871)
ชื่ออื่น ๆ
ขี้อ้าย (ลำปาง), มะค่าลิ้น (อุตรดิตถ์, ปราจีนบุรี), ลำไยป่า (อุตรดิตถ์)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม