กัญชาป่า

Sopubia comosa (Bonati) Yamazaki

ชื่ออื่น ๆ
หางหมาจอก (เลย), สร้อยซานา (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ไม้ล้มลุกกึ่งเบียน ลำต้นกลมหรือเป็นสี่เหลี่ยม ใบเรียงเวียนถี่ รูปแถบหรือรูปเส้นด้าย ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอด ดอกสีชมพูอมม่วง รูปปากแตร ผลกลม แบนข้าง มีร่องตรงกลางเหมือนจาวตาล

กัญชาป่าเป็นไม้ล้มลุกกึ่งเบียน สูง ๔๐-๖๐ ซม. ลำต้นกลมหรือเป็นสี่เหลี่ยม แตกกิ่งก้านใกล้ปลายยอด ยอดอ่อนมีขนหนานุ่ม

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ รูปแถบหรือรูปเส้นด้าย กว้าง ๑-๓ มม. ยาว ๒-๗ ซม. ขอบม้วนลง เรียบหรือมีจักเล็ก ๆ ตรงข้ามกัน ๑ คู่ตอนกลางใบ แผ่นใบด้านบนสากคาย ด้านล่างมีขนประปรายเฉพาะเส้นกลางใบ

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด มีดอกถี่ ออกที่ยอด เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๓ ซม. ยาว ๑-๕ ซม. ใบประดับเหมือนใบปรกติ ยาว ๐.๗-๒.๕ ซม. มีขนสั้น ใบประดับย่อยรูปไข่ กว้าง ๒-๓ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายเรียวแหลมกลีบเลี้ยงกว้างและยาวประมาณ ๔ มม. โคนติดกันเป็นรูประฆังห้าเหลี่ยม ปลายแยกเป็น ๕ แฉก มีสันนูนระหว่างแฉกมีขนสาก กลีบดอกสีชมพูอมม่วง รูปปากแตร ยาวประมาณ ๘ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยาวประมาณ ๒ มม. เกสรเพศผู้ ๔ อัน รังไข่อยู่เหนือกลีบ มี ๒ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก

 ผลกลม กว้างและยาวประมาณ ๔ มม. ค่อนข้างแบนทางข้าง มีร่องตรงกลางเหมือนจาวตาล เมื่อแก่แตกแนวข้างเป็น ๒ ซีก มีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก

 กัญชาป่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลางและภาคตะวันออก ขึ้นปะปนกับพืชอื่นตามป่าทุ่ง ในต่างประเทศพบที่ลาวและกัมพูชา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กัญชาป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Sopubia comosa (Bonati) Yamazaki
ชื่อสกุล
Sopubia
คำระบุชนิด
comosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Bonati, Gustave Henri
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Bonati, Gustave Henri (1873-1927)
ชื่ออื่น ๆ
หางหมาจอก (เลย), สร้อยซานา (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายพงษ์ศักดิ์ พลตรี