กัญชาเทศเป็นไม้ล้มลุก สูง ๓๐-๕๐ ซม. ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม มีขนทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยม ขอบหยักเว้าลึกเข้าใกล้โคนใบและเส้นใบ แผ่นใบมักเป็นริ้วยาวแคบและบาง ด้านล่างมีขนมากกว่าด้านบน ใบล่างขนาดใหญ่กว่าและขอบใบหยักเว้ามากกว่าใบบน กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๕-๘ ซม. ใบบนเรียวแคบ กว้าง ๐.๕-๒ ซม. ยาว ๑.๕-๕ ซม. ก้าน ใบเรียว ยาว ๒-๖ ซม. มีขน
ช่อดอกแบบช่อฉัตร ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกเล็ก ไม่มีก้านดอก โคนดอกมักมีใบประดับเป็นเส้นเรียวแหลม ยาว ๐.๔-๑ ซม. กลีบเลี้ยง ยาว ๔-๕ มม. โคนติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็นแฉกเรียวแหลมคล้ายหนาม ๕ แฉก ผิวด้านนอกมีขนและมีเส้นตามยาว ๕ เส้น กลีบเลี้ยงติดอยู่ จนผลแก่และมีขนาดใหญ่ขึ้น กลีบดอกสีขาวหรือชมพูอ่อน รูปปากเปิด ยาว ๑-๑.๔ ซม. โคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๒ ส่วน ส่วนบนมีกลีบเดียว รูปไข่กลับ ปลายมน ส่วนล่างมี ๓ แฉก แฉกกลางรูปหัวใจกลับและขนาดใหญ่กว่าแฉกข้าง สีชมพูมีเส้นสีม่วง ผิวด้านนอกมีขน เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ ก้านชูอับเรณูสั้น ๑ คู่ ยาว ๑ คู่รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๔ พู แต่ละพูมี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก
ผลเล็ก รูปรี เมื่อแก่แห้งแข็ง
กัญชาเทศเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ นำมาปลูกในประเทศไทยกันแพร่หลาย และแพร่พันธุ์ไปตามที่โล่งและชุ่มชื้นริมแหล่งน้ำ ขึ้นบนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๒,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบในทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา
ไม่ปรากฏการใช้ประโยชน์ทางยาแผนโบราณของไทย ในฟิลิปปินส์ใช้ใบต้มเป็นยาขับปัสสาวะ มาเลเซียใช้พอกแก้ปวดศีรษะ ชวาใช้เป็นยาสําหรับสตรีหลังการคลอดบุตร (Burkill 1966; Keng, 1978) จีนและอินเดียใช้แก้ไข้ (Perry and Metzger, 1980; Thacker ed., 1962).