ตอหิ

Millettia ovalifolia Kurz

ชื่ออื่น ๆ
จักจั่น, ขะแมด (เหนือ)
ไม้ต้น ลำต้นเปลาตรง เปลือกแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ หรือเรียบ สีดำเข้มถึงสีเทา กิ่งแก่เกลี้ยง มีช่องอากาศจำนวนมาก ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน มีใบย่อย ๕-๑๑ ใบ เรียงตรงข้าม ใบอ่อนรูปรีหรือรูปไข่ เมื่อแก่รูปรีหรือรูปไข่ถึงรูปใบหอก เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นเด่นชัดทางด้านล่าง ช่อดอกแบบช่อกระจะเทียมและช่อแยกแขนงเทียม ออกตามซอกใบ ดอกรูปดอกถั่ว สีชมพูถึงสีแดง ผลแบบผลแห้งแตก ๒ แนว รูปคล้ายแถบยาว ผนังผลแข็งคล้ายเนื้อไม้ มีช่องอากาศจำนวนมาก เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม มี ๑-๕ เมล็ด

ตอหิเป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๑๕ ม. ลำต้นเปลาตรงเปลือกแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ หรือเรียบ สีดำเข้มถึงสีเทากิ่งแก่เกลี้ยง มีช่องอากาศจำนวนมาก

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาว ๖-๑๐ ซม. มีใบย่อย ๕-๑๑ ใบ เรียงตรงข้าม ใบอ่อนรูปรีหรือรูปไข่ เมื่อแก่รูปรีหรือรูปไข่ถึงรูปใบหอก กว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๔-๙ ซม. ปลายแหลมหรือเว้าตื้น โคนรูปลิ่มหรือเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษเกลี้ยงหรือค่อนข้างเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นเด่นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๒-๕ ซม. มีขน แกนใบยาว ๖-๑๐ ซม. ก้านใบย่อยยาว ๓-๕ มม. หูใบร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจะเทียมและช่อแยกแขนงเทียม ออกตามซอกใบ ยาวได้ถึง ๑๕ ซม. ก้านช่อดอกยาวได้ถึง ๒ ซม. ใบประดับรูปสามเหลี่ยมหรือรูปไข่ใบประดับย่อยรูปไข่ ก้านดอกยาว ๐.๕-๒ ซม. ดอกรูปดอกถั่ว สีชมพูถึงสีแดง กลีบเลี้ยงสีเขียว เกือบปลายตัดหรือมีกลีบขนาดเล็ก ๕ กลีบ รูปสามเหลี่ยม กว้างและยาวประมาณ ๐.๓ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ กลีบกลางรูปค่อนข้างกลม กว้างและยาว ๐.๘-๑ ซม. ปลายเว้าตื้น โคนมีติ่งหูและรอยด้าน ขอบพับเข้า เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ก้านกลีบยาวประมาณ ๑ มม. กลีบคู่ข้างรูปใบหอกไม่สมมาตร กว้าง ๒.๕-๔ มม. ยาว ๗-๘ มม. ปลายแหลม โคนเบี้ยว ขอบเรียบ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ก้านกลีบยาวประมาณ ๓ มม. กลีบคู่ล่างรูปเคียว กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๔.๕-๕ มม. ปลายแหลม โคนเบี้ยว เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ก้านกลีบยาวประมาณ ๓ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกมีเกสรเพศผู้ ๙ เกสร ก้านชูอับเรณูส่วนโคนเชื่อมติดกัน ยาว ๕-๗ มม. เกลี้ยงโอบล้อมเกสรเพศเมีย ปลายแยกเป็นก้านชูอับเรณู ยาว ๑-๒ มม. เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๑ เกสร แยกเป็นอิสระ



จากกลุ่มแรก อับเรณูแบบติดที่ฐาน รูปขอบขนาน กว้างและยาวประมาณ ๐.๕ มม. ไม่มีจานฐานดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ยาว ๕-๖ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุล ๓-๕ เม็ด มีขนหนาแน่น ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๒.๕-๓ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็ก

 ผลแบบผลแห้งแตก ๒ แนว รูปคล้ายแถบยาวกว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาว ๙-๑๐ ซม. ผนังผลแข็งคล้ายเนื้อไม้ มีช่องอากาศจำนวนมาก เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. มี ๑-๕ เมล็ด

 ตอหิมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าเต็งรัง ป่าไผ่ และป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๕-๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนมีนาคมถึงเมษายน เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่เมียนมา

 ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ และร่มเงา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตอหิ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Millettia ovalifolia Kurz
ชื่อสกุล
Millettia
คำระบุชนิด
ovalifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kurz, Wilhelm Sulpiz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1834-1878)
ชื่ออื่น ๆ
จักจั่น, ขะแมด (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สไว มัฐผา