ครามป่าชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๒ ม. กิ่งและลำต้นมีเนื้อในอ่อน กิ่งอ่อน ใบอ่อน และทุกส่วนของช่อดอกมีขนสั้นรูปตัวที (T) สีน้ำตาล ปลายทั้ง ๒ ข้างของขนขนาดใกล้เคียงกัน
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาว ๑๕-๒๐ ซม. ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. โคนก้านบวม และ
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ยาว ๔-๘ ซม. ใบประดับเรียว ยาวประมาณ ๔ มม. ดอกรูปดอกถั่วยาว ๑-๑.๕ ซม. ก้านดอกยาวประมาณ ๒ มม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๒ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ขนาดใกล้เคียงกัน กลีบดอก ๕ กลีบ สีแดงหรือสีแดงอมม่วงกลีบกลางรูปรี กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. กลีบคู่ข้างรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. กลีบคู่ล่างติดกันเป็นรูปท้องเรือยาวใกล้เคียงกับกลีบคู่ข้าง เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร เชื่อมติด ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกมี ๙ เกสร โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นแผ่นโค้ง อีก ๑ เกสรแยกเป็นอิสระยาวประมาณ ๑.๕ ซม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปเรียวเล็กมีขน ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวโค้ง เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปคล้ายทรงกระบอก กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๔-๕ ซม. ส่วนที่ค่อนไปทางปลายกว้างกว่าส่วนที่ค่อนมาทางโคนเล็กน้อย มีขนสั้นทั่วไป เมล็ดเล็ก รูปทรงกลม สีน้ำตาล มี ๘-๑๑ เมล็ด
ครามป่าชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามที่โล่ง ป่าเบญจพรรณและป่าเบญจพรรณแล้ง ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐-๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน.