กระเจียวบัว

Curcuma alismatifolia Gagnep.

ชื่ออื่น ๆ
ขมิ้นโคก, บัวบก (นครพนม); บัวสวรรค์, ปทุมา (กลาง); อาวหลวง (เหนือ)
ไม้ล้มลุก มีเหง้า ใบเรียงสลับ รูปใบหอก กาบใบหุ้มซ้อนกันเป็นต้นเทียม ช่อดอกแบบช่อเชิงลด มีใบประดับเรียงซ้อนกัน โคนใบประดับชั้นล่างสีเขียว ปลายตัด ชั้นบนสีชมพูปลายแหลมเหมือนกลีบบัว ดอกสีขาว ปลายกลีบสีม่วงเข้ม

กระเจียวบัวเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้ากลม ขนาด ๒-๒.๕ ซม. มีรากขวบอยู่รวมกันเป็นกระจุก บางครั้งปลายรากเปลี่ยน เป็นก้อนกลมซึ่งเป็นส่วนที่สะสมอาหาร

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ ออกจากเหง้าชูขึ้นมาเหนือพื้นดิน ๒ ใบพร้อมกันก่อน ส่วนช่อดอกจะงอกพร้อมกับใบที่ ๓ ใบยาว รูปใบหอก หรือใบป้อม กว้าง ๓.๕-๖.๕ ซม. ยาว ๑๕-๖๐ ซม. ปลายใบแหลม โคนสอบแคบลงไปจนกลายเป็นก้าน ก้านใบยาวประมาณ ๒๐ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด รูปทรงกระบอก กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๔-๕ ซม. ประกอบด้วยใบประดับซ้อนกัน ใบประดับที่โคนช่อสีเขียวอ่อนและมีลักษณะคล้ายกันคือปลายตัด ส่วนใบประดับที่อยู่ปลายช่อนั้นปลายใบจะแหลมและมีสีขาว ชมพูอ่อนหรือชมพูแก่คล้ายสีกลีบบัว บางครั้งมีสีน้ำตาล เขียว หรือชมพูเข้มตามขอบ ก้านช่อดอกยาว ๐.๓-๑.๔ ซม. ดอกสีขาวกลีบปากสีม่วงเข้ม บานอยู่ในซอกใบประดับที่อยู่โคนช่อเท่านั้นดอกจะยื่นออกมาเล็กน้อย โคนกลีบดอกติดกันเป็นหลอดรูปกรวย กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑.๘-๒ ซม. เกสรเพศผู้ ๑ อัน เกสรเพศเมียอยู่ระหว่างลอนอับเรณู รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก

 กระเจียวบัวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าโปร่งขึ้นออกดอกประมาณเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบในภูมิภาคอินโดจีน

 เนื่องจากใบประดับมีสีสวยและมีก้านช่อดอกยาว จึงมีการปลูกทางภาคเหนือเพื่อตัดดอกขาย

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระเจียวบัว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Curcuma alismatifolia Gagnep.
ชื่อสกุล
Curcuma
คำระบุชนิด
alismatifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Gagnepain, François
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1866-1952)
ชื่ออื่น ๆ
ขมิ้นโคก, บัวบก (นครพนม); บัวสวรรค์, ปทุมา (กลาง); อาวหลวง (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.จิรายุพิน จันทรประสงค์