กัญชา

Cannabis sativa L.

ชื่ออื่น ๆ
กัญชาจีน (ทั่วไป), คุนเช้า (จีน), ปาง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), ยานอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ไม้ล้มลุก ใบรูปฝ่ามือ หยักลึกเป็นแฉกแหลม ๕-๗ แฉก ดอกแยกเพศต่างต้น ออกรวมเป็นช่อกระจุกตามง่ามใบและปลายกิ่ง สีเขียวอ่อน ไม่มีกลีบดอก ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อนยังคงมีกลีบเลี้ยงหุ้ม

กัญชาเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นตั้งตรง สูง ๐.๙-๑.๕ ม. มีขนสีเขียวอมเทาและไม่ค่อยแตกสาขา

 ใบเดี่ยว รูปฝ่ามือ เรียงสลับ ขอบใบเว้าลึกจนถึงจุดโคนใบเป็น ๕-๗ แฉก แต่ละแฉกรูปยาวรี กว้าง ๐.๓-๑.๕ ซม. ยาว ๖-๑๐ ซม. โคนและปลายสอบ ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มกว่าด้านล่าง

 ดอกแยกเพศต่างต้น ออกเป็นช่อกระจุกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ช่อดอกและใบของต้นเพศผู้เรียงตัวกันห่าง ๆ ต่างจากต้นเพศเมียที่เรียงชิดกัน เกสรเพศผู้ ๕ อัน ดอกเล็ก ดอกเพศเมียมีกลีบเลี้ยงหุ้ม ไม่มีกลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน เล็ก เรียบ สีน้ำตาล ยอดของ ต้นเพศเมียที่กำลังออกดอกเรียก กะหลี่กัญชา เมื่อตากให้แห้งแล้วนิยมนำมาใช้สูบ

 กัญชามีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียแล้วจึงแพร่ไปตามเขตต่าง ๆ ของโลก กล่าวคือจากประเทศอัฟกานิสถานไปยังทวีปแอฟริกาเขตร้อน ทวีปยุโรป ทวีปอเมริกาเหนือและใต้ และฮาวายการที่พืชนี้แพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลก เนื่องจากกัญชาให้เส้นใยที่นำไปทอผ้าหรือทอกระสอบได้ เมล็ดให้น้ำมันชักแห้ง ส่วนกะหลี่กัญชาให้เรซินซึ่งเป็นสารเสพติด (Fairban and Paton, 1972)

 กัญชาขึ้นได้ในดินทุกชนิด แต่ถ้าปลูกในดินร่วนซุยและมีอาหารอุดมสมบูรณ์ก็จะงอกงามดี กัญชาที่ปลูกในเขตร้อนออกฤทธิ์ทำให้มึนเมาเพราะให้เรซินมากและมีคุณภาพดีกว่ากัญชาที่ปลูกในเขตอบอุ่น กัญชาที่ปลูกในยุโรปให้เส้นใยที่มีคุณภาพดีกว่าที่ปลูกในเมืองร้อน

 กัญชาเป็นพืชที่นำมาเตรียมผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิด มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน (Fairbain and Paton, 1972)

 มาริฮัวนา (Marijuana, Marihuana) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากการเตรียมที่ง่ายที่สุด กล่าวคือ นำกะหลี่กัญชามาผึ่งให้แห้งในที่ร่ม แล้วขยี้ให้เป็นผงหยาบ

 กัญชาแท่ง (Ganja) เป็นผงหยาบของดอก ผล และใบแห้ง ที่นำมาอัดเป็นแผ่น

 แบง (Bhang, Bang) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพต่ำอาจมีส่วนประกอบเป็นเพียงใบเท่านั้น หรืออาจมีช่อดอกทั้งเพศผู้และเพศเมียปนมาด้วย

 แฮชฮิส (Hashish) หรือ ชารีส (Charas) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความแรงสูง เตรียมขึ้นโดยนำกะหลี่กัญชามาใส่ในถุงผ้าใบใช้ไม้ทุบให้เรซินไหลออกมา แล้วจึงพูดเรซินออกมาจากถุงผ้าทั้งนี้เพื่อให้สะดวกต่อการลักลอบขนส่ง

 รีฟเฟอร์ (Reefer) หรือ จอยต์ (Joint) เป็นผลิตภัณฑ์ผสมระหว่างกัญชาและยาสูบ ในประเทศตะวันตกนิยมนำรีฟเฟอร์มาสูบแทนบุหรี่

 สารสําคัญที่ทำให้เกิดความมึนเมาและรู้สึกเป็นสุข (euphoric) อยู่ในเรซิน สารนี้คือ (-)-△9-trans-tetrahydrocannabinol หรือมีชื่อเรียกทั่วไปว่า △9-THC ซึ่งอาจมีได้ถึงร้อยละ ๔-๖ แต่ส่วนใหญ่แล้วมีเพียงร้อยละ ๑-๒ เท่านั้น สารชนิดอื่น ๆ ที่พบในเรซินก็คือ cannabinol หรือ CBN, cannabidiol CBD, cannabidiolic acid, cannabichromene, cannabigerol และ △8-trans tetrahydrocannabinol หรือ △8-THC ทั้ง △8 และ △9-THC เป็นสารที่ทำให้เกิดความรู้สึกเคลิบเคลิ้มเป็นสุข ส่วน CBN เป็นสารที่ออกฤทธิ์อ่อนกว่ากรดแคนนาบิดิโอลิกทำให้เกิดการสงบระงับ (sedative) (Fairbain and Paton, 1972; Tyler, Brady and Robbers, 1976)

 ได้มีการออกพระราชบัญญัติกัญชาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ ห้ามปลูก เสพ และมีไว้ในครอบครอง การเสพกัญชาในประเทศไทยนิยมสูบโดยใช้กล้องที่เรียกว่า บ้องกัญชาทำด้วยไม้ไผ่ เผากัญชาแล้วดูดควันให้ผ่านน้ำ ปัจจุบันนิยมนำกัญชามาผสมกับยาสูบแล้วสูบเช่นเดียวกับบุหรี่ นอกจากวิธีดังกล่าวแล้วยังมีผู้นิยมนำกะหรี่กัญชามาผสมอาหาร เช่น แกงเขียวหวาน

 ผู้ที่เมากัญชาจะมีอาการเกิดขึ้นต่าง ๆ กัน ขึ้นอยู่กับ สภาพแวดล้อม อาจจะมีอารมณ์สนุกหรือโศกเศร้าก็ได้ มีความรู้สึกเลอะเลือนในเรื่องเวลา บางคนมีอาการก้าวร้าว แต่บางคนมีความหวาดกลัว ความคิดสับสนและเกิดอารมณ์เคลิ้มฝัน ฤทธิ์ของกัญชาอยู่ในร่างกายได้นาน ๓-๕ ชั่วโมง หลังจากนี้ผู้เสพจะมีอาการเซื่องซึมและหิวกระหาย เมื่อสร่างเมาแล้วนิยมกินของหวาน (Jones, Shainberg and Byer, 1969)

 ปัจจุบันนำกัญชามาใช้ลดความดันในนัยน์ตาของคนที่เป็นต้อหิน (glaucoma) แต่ผลที่ได้ไม่ชัดเจนยังต้องรอการพิสูจน์อยู่ นอกจากนี้ ยังนำ THC มาใช้ระงับการอาเจียนที่เกิดขึ้นในคนที่เป็นโรคมะเร็งซึ่งได้รับการรักษาโดยวิธีเคมีบำบัดผู้ที่สูบเป็นประจำมักสมองเสื่อมและเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กัญชา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cannabis sativa L.
ชื่อสกุล
Cannabis
คำระบุชนิด
sativa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
กัญชาจีน (ทั่วไป), คุนเช้า (จีน), ปาง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), ยานอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.พยอม ตันติวัฒน์