กะออมเป็นไม้ล้มลุก สูง ๑๐-๓๕ ซม. ลำต้นเรียว ตั้งขึ้นมีขนหยาบแข็งหนาแน่น มีกลิ่นหอม
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก รูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมรี กว้าง ๐.๓-๑ ซม. ยาว ๑-๓.๕ ซม. ปลายแหลมถึงมนเล็กน้อย โคนสอบเรียว ขอบหยักมนกึ่ง จักฟันเลื่อย แผ่นใบบาง ด้านบนมีขนสากหรือเกลี้ยง ด้านล่างเกลี้ยงและมีจุดโปร่งแสงกระจายทั่วไป เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๔ เส้น เห็นไม่ชัด ก้านใบสั้นหรือไม่มีก้านใบ
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบและที่ยอด ก้านช่อดอกยาว ๑.๕-๖ ซม. มีขนหยาบแข็งห่าง ๆ ถึงเกลี้ยงแต่ละช่อมี ๒-๑๐ ดอก สีม่วงหรือสีฟ้าอมม่วงอ่อน ก้านดอกยาว ๑-๘ มม. ด้านนอกมีขนหยาบแข็งห่าง ๆ ถึงเกลี้ยง ใบประดับขนาดเล็กมาก รูปใบหอกแคบ ใบประดับย่อยรูปเส้นด้าย ยาว ๑-๒ มม. กลีบเลี้ยงสีเขียวแกมแดง โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาวประมาณ ๒ มม. ด้านนอกมีขนหยาบแข็งหนาแน่นปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอก กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. มีสันตามยาวตรงกลาง กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปหลอดถึงรูปกรวย ยาว ๐.๘-๑ ซม. มีแต้มสีเหลืองที่ปากหลอดกลีบดอก ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนอุยแฉกกลีบดอกรูปปากเปิด ปากบนรูปกลมกว้าง ปลายเว้าตื้นปากล่าง ๓ แฉก รูปกลม เกสรเพศผู้ ๒ คู่ยาวไม่เท่ากัน ติดอยู่บนหลอดกลีบดอก ไม่โผล่พ้นกลีบดอก อับเรณูรูปขอบขนานถึงรูปไข่ มี ๒ ช่อง แตกตามยาว ก้านชูอับเรณูติดด้านหลังอับเรณู รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่กึ่งรูปรี กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก มีจานฐานดอกรูปวงแหวน ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๕-๖ มม. ยอดเกสรเพศเมียรูปกลมแบน มีครีบบางแผ่ออกด้านข้าง
ผลแบบผลแห้งแตก รูปรี กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. มีเมล็ดจำนวนมาก สีน้ำตาล ขนาดเล็ก
กะออมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขึ้นในที่สูงจากระดับน้ำทะเลได้ถึง ๓๐๐ ม. บริเวณที่ชื้นแฉะ ริมน้ำหรือในนาข้าว ออกดอกประมาณเดือนธันวาคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน
ทุกส่วนกินได้ รากใช้แก้ไข้ ขับเสมหะ ขับน้ำนม ใช้เป็นยาพอกแผลที่ขา (นันทวัน บุณยะประภัศร, ๒๕๔๒) ยาพื้นบ้านอีสานใช้ต้นแห้งทั้งต้นที่เก็บไว้นาน ๑ ปี ต้มน้ำดื่มแก้พิษเบื่อเมา (วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล และคณะ, ๒๕๔๓).