กะออกเป็นไม้ต้น สูง ๓๐-๔๐ ม. มีพอนขนาดใหญ่ที่โคนต้น ทุกส่วนของลำต้นมียางขาว เปลือกเรียบหนาและเหนียวลอกออกเป็นแผ่นใหญ่ ๆ ได้ง่าย ตามปลายกิ่งมีตาขนาดใหญ่ที่มีหูใบห่อหุ้มเป็นรูปสามเหลี่ยมยาว ๘-๑๖ ซม. มีขนหยาบ สีน้ำตาลอมเหลืองหนาแน่น
ใบมีขนาดและรูปทรงต่าง ๆ กัน ใบของต้นกล้า ใบของกิ่งที่แตกหน่อขึ้นมาใหม่ และใบตามกิ่งต่าง ๆ ของต้นที่ยังเล็กอยู่จะมีขนาดใหญ่มาก ยาวตั้งแต่ ๐.๖-๑.๖ ม. และแผ่นใบจะเว้าเป็นแฉกลึกเข้ามาเกือบจรดเส้นกลางใบคล้ายง่ามนิ้วมือแต่ละแฉกมีขอบเรียบหรือเว้าไม่เป็นระเบียบห่าง ๆ กัน ปลายแฉกแหลมยาว ใบของต้นขนาดกลางและขนาดใหญ่มีใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปรี กว้าง ๑๒-๓๐ ซม. ยาว ๑๕-๔๕ ซม. ปลายมน โคนสอบ เบี้ยวมากหรือน้อย ขอบเรียบแต่เป็นคลื่นชัดเจน แผ่นใบหนา ย่นเป็นลอนระหว่างเส้นแขนงใบที่ขนานกันด้านบนมีขนหยาบประปราย ด้านล่างมีขนหนาแน่นและเส้นแขนงใบเห็นได้ชัด ก้านใบยาว ๓-๙ ซม.
ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกเพศผู้แบบช่อหางกระรอกหลายช่อคล้ายนิ้วมือ กว้าง ๑.๗-๓ ซม. ยาว ๑๒-๒๐ ซม. ออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง สีเหลือง ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ก้านช่อยาว ๔-๘ ซม. ดอกเพศผู้มีจำนวนมาก ช่อดอกเพศเมียแบบช่อเชิงลด ตั้งตรง ออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง รูปไข่กลับแกมรูปทรงกระบอกสั้น ๆ กว้าง ๖-๗ ซม. ยาว ๗-๙ ซม. ช่อดอกสีเขียวต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลืองหรือเขียวเข้ม ก้านช่อยาว ๕-๙ ซม. ดอกเพศเมียอัดกันแน่นอยู่บนแกนมีก้านยอดเกสรเพศเมียยื่นออกมาภายนอกหนาแน่นคล้ายขนเงาะ ยาว ๒-๒.๕ ซม. ปลายมักโค้งงอลง
ผลเป็นผลรวม กลมรี สีเหลืองอมเขียว กว้าง ๖-๑๐ ซม. ยาว ๑๐-๑๔ ซม. ผนังมีหนามอ่อนสั้น ๆ ปลายโค้งลงติดกันหนาแน่น ผลสุกสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอมเหลือง มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว เมล็ดมียางสีขาวหุ้ม
กะออกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ขึ้นตามป่าดิบชื้น ในต่างประเทศพบทางภาคใต้ของพม่าและภูมิภาคมาเลเซีย
ในอินโดนีเซียใช้เปลือกทุบเป็นแถบพันแก้ปวดเอว ใช้ใบผสมกับข้าวกินแก้วัณโรค และใช้ยางบำบัดโรคบิด (Perry and Metzger, 1980).