ต้อยติ่งหมอคาร์เป็นไม้ล้มลุกปีเดียวหรือหลายปี สูง ๒๐-๕๐ ซม. ลำต้นทอดเลื้อยหรือตั้งขึ้น เป็นเหลี่ยมถึงกลม มีขนสั้นนุ่มปลายโค้ง ข้อโป่งพอง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกรูปไข่ หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง ๑.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๕-๘ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ผิวใบด้านบนและด้านล่างมีขนยาวสีขาวประปราย เส้นกลางใบเห็นเด่นชัด แบนราบหรือเป็นร่องทางด้านบน นูนเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๒-๒.๕ ซม. ด้านบนเป็นร่องตื้น ๆ มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น
ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้นหรือเป็นดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ ไร้ก้าน มี ๑-๓ ดอก ใบประดับย่อยขนาดใหญ่คล้ายใบ รูปใบหอกหรือรูปช้อน กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. มีขนยาวสีขาวประปรายกลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๒ ซม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อยปลายแยกเป็นแฉกลึก ๕ แฉก รูปแถบหรือรูปใบหอกขนาดเกือบเท่ากัน ปลายแหลม ด้านนอกมีขนยาวสีขาวประปราย โคนกลีบมีเส้นกลีบแยกแขนงชัดเจน กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด โป่งข้างเดียว สีม่วง หลอดยาว ๓.๕-๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ขนาดไม่เท่ากันรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๒-๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายมนหรือเว้าบุ๋ม หลอดกลีบดอกยาวกว่าแฉกกลีบดอก ด้านนอกมีขนประปราย ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้สมบูรณ์ ๒ เกสร และเป็นหมัน ๒ เกสร ติดที่บริเวณกลางหลอดกลีบดอก ยาวไม่พ้นหลอดดอก ก้านชูอับเรณูเรียว ยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. เกลี้ยง อับเรณูรูปขอบขนานหรือรูปรี แต่ละอับเรณูมี ๒ พู ยาวประมาณ ๓ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่กลับหรือรูปทรงรี เกลี้ยงมี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๘ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๓-๔ มม. มีขนประปราย ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ แฉกสั้น ๆ
ผลแบบผลแห้งแตก ๒ ซีก รูปทรงรีแกมทรงรูปไข่ เมล็ดขนาดเล็ก รูปทรงกลมค่อนข้างแบน ผิวเรียบ มีได้ถึง ๑๖ เมล็ด ก้านเมล็ดเป็นตะขอรูปคล้ายเข็มปลายแหลม
ต้อยติ่งหมอคาร์เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตกพบตามป่าดิบแล้งหรือป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๖๐-๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงกุมภาพันธ์.