-
ชื่ออื่น ๆ
-
เอื้องลิ้นดำ (ทั่วไป)
งูเขียวปากม่วงเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญเติบโตทางยอด ลำต้นแข็ง ตั้งตรงหรือโค้งเอน รูปทรงกระบอก สีเทาอมม่วงหรือสีเทาดำ ยาวได้ถึง ๘๐ ซม.เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น ๕-๖ มม. ปล้องยาว ๒-๒.๕ ซม.
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปทรงกระบอก ค่อนข้างแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ มม. ยาว ๑๕-๒๐ ซม. ปลายเรียว ปลายสุดมน โคนเป็นปลอกหุ้มลำต้น
ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ออกตามข้อเยื้องหรือตรงข้ามใบ แทงทะลุโคนใบส่วนที่เป็นปลอกหุ้มลำต้น ก้านและแกนช่อดอกอวบแข็ง ยาว ๑.๕-๒ ซม.มีใบประดับเรียงเวียนถี่ ดอกบานครั้งละ ๑-๒ ดอก ก้านดอกและรังไข่ยาวประมาณ ๑ ซม. ดอกกว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๒.๕-๒.๗ ซม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ สีเขียวแกม
น้ำตาล กลีบบนรูปขอบขนาน ปลายมน ขอบโค้งขึ้นคล้ายเรือ กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๑-๑.๒ ซม. กลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปคล้ายเรือ บิดตัวลงมาอยู่ในระนาบเดียวกับกลีบปาก กว้าง ๗-๘ มม. ยาว ๑-๑.๒ ซม. กลีบพับตามยาว ๒ ซีก ไม่เท่ากัน ปลายเป็นกระพุ้งทางด้านนอก และมีสันแคบ ปลายแหลม กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบคู่ข้างสีอ่อนกว่ากลีบเลี้ยง โค้งพับและบิดมาทางด้านหน้าดอก รูปคล้ายช้อน กว้าง ๕-๗ มม. ยาวประมาณ ๒ ซม. ปลายมน โคนสอบ กลีบปากสีม่วงแดงคล้ำ รูปคล้ายพัด กว้างและยาว ๑.๕-๑.๗ ซม. ช่วงโคนผิวเรียบ มีหูกลีบปากโค้งมน สีเขียวอ่อน ช่วงปลายแผ่ออกจากรอยคอด รูปคล้ายไต ผิวด้านบนขรุขระ เป็นลายคล้ายตาตาราง ขอบกลีบหยักตื้นไม่เป็นระเบียบ ปลายสุดอาจเว้าตื้น ขอบม้วนลง เส้าเกสรอ้วนสั้น สีนวล อาจมีจุดสีม่วงประปราย กว้างและสูงประมาณ ๔ มม. ฝาครอบกลุ่มเรณูสีนวล รูปคล้ายหมวก กลุ่มเรณูรูปค่อนข้างกลมสีเหลือง มีร่องแคบและตื้น ร่องยาวประมาณ ๑ ใน ๓
ของขนาดกลุ่มเรณู กลุ่มเรณูมี ๒ กลุ่ม ติดอยู่ที่ปลายแถบซึ่งกว้างและบางใส ปลายแถบอีกด้านแผ่เป็นแป้นพับงอ คลุมจะงอยเกสรเพศเมีย มีสารเหนียวทางด้านนอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมากยอดเกสรเพศเมียเป็นโพรงเต็มหน้าเส้าเกสร
งูเขียวปากม่วงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบขึ้นตามต้นไม้และกิ่งไม้ในป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับทะเล ๘๐๐-๑,๔๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคม ยังไม่มีข้อมูลการติดผลในประเทศไทย ในต่างประเทศพบที่เมียนมา.