ครามป่าชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๓ ม. ลำต้นและกิ่งเป็นเหลี่ยม มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น
ใบประกอบแบบมีหนึ่งใบย่อย เป็นใบประกอบที่ลดรูปลักษณะคล้ายใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปรี กว้าง ๓-๑๒ ซม. ยาว ๕-๒๐ ซม. ปลายกลม มน แหลม หรือมีติ่งหนามยาว ๑.๕-๒ มม. โคนกลม มน หรือรูปลิ่ม ขอบเรียบแผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนนุ่มสีนํ้าตาลหนาแน่น เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบนเส้นแขนงใบข้างละ ๑๕-๒๕ เส้น เส้นแขนงใบและ เส้นใบย่อยเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบและก้านใบย่อยยาวรวมกัน ๑-๒.๕ ซม. มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น หูใบรูปใบหอกแคบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๓-๕ มม. หูใบย่อยบนก้านใบรูปเส้นด้าย ยาว ๑-๒ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ มักห้อยลง ยาว ๕-๑๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๕-๒๕ มม. ก้านและแกนช่อมีขนสีนํ้าตาลหนาแน่น แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกสีขาวหม่น ก้านดอกยาว ๑-๕ มม. ใบประดับรูปเส้นด้าย ยาว ๑-๓ มม. ร่วงง่าย กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดตื้น ๆ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน ด้านนอกมีขน กลีบดอกกลีบกลางรูปวงกลม กว้าง ๖-๗ มม. ยาว ๖-๘ มม. ด้านนอกมีขน กลีบคู่ข้างรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๕-๗ มม. กลีบคู่ล่างรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๒.๕ มม. ยาว ๖-๘ มม. ด้านข้างใกล้โคนกลีบมีถุงเล็ก ๆ ข้างละ ๑ ถุง ทั้งกลีบคู่ข้างและกลีบคู่ล่างมีขนที่ด้านนอกและขอบกลีบเกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ยาว ๗-๘ มม. เชื่อมติด ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกมี ๙ เกสรโคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน ส่วนอีก ๑ เกสร แยกเป็นอิสระ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปแถบ ยาว ๖-๗ มม. มีขน มี ๑ ช่อง ออวุล ๙-๑๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียโค้ง เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมีย เป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปคล้ายทรงกระบอก ส่วนปลายโค้งงอ กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๒-๕ ซม. มีขนสีนํ้าตาลประปราย เมล็ดทรงสี่เหลี่ยม กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๒-๒.๕ มม. มี ๙-๑๑ เมล็ด
ครามป่าชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๙๐๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงกันยายน เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่พม่า ลาว และเวียดนาม.