กะหล่ำดอก

Brassica oleracea L. var. botrytis L.

ชื่ออื่น ๆ
กะหล่ำต้น, ผักกาดดอก
-

กะหล่ำดอกเป็นไม้ล้มลุกปีเดียวหรือสองปี ลำต้นกลมตั้งตรง สูง ๒๐-๖๐ ซม.

 ใบเดี่ยวรูปไข่หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ขอบหยักซี่ฟันช่อดอกออกเป็นกระจุกสีขาว อัดกันแน่นจนแยกเป็นดอกเดี่ยว ๆ ไม่ได้ ก้านช่อดอกและก้านดอกพองขยายออกรองรับกระจุกดอก ขนาดและลักษณะของช่อดอกแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์แบ่งได้ ๓ กลุ่ม ตามอายุการเก็บเกี่ยว คือ พันธุ์เบา มีอายุเก็บเกี่ยว ๕๐-๖๕ วัน พันธุ์ขนาดกลาง ๖๕-๗๕ วัน และพันธุ์หนัก ๗๐-๙๐ วัน

 กะหล่ำดอกปลูกเพื่อกินส่วนที่เป็นดอกอ่อน นำเข้ามาปลูกแพร่หลายในประเทศไทยช่วงหลัง พ.ศ. ๒๔๗๐ เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศเย็น ที่อุณหภูมิ ๑๔-๒๐° ช. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดแล้วย้ายกล้าปลูก เนื่องจากประเทศไทยมีแสงแดดแรงเป็นเหตุให้ผิวช่อดอกกะหล่ำมีสีเหลืองไม่เป็นที่นิยมของตลาด เกษตรกรจึงนิยมห่อช่อดอกโดยรวบปลายใบบน ๆ มัดติดกันเมื่อเริ่มเห็นตุ่มตาดอกผลออกมา

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กะหล่ำดอก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Brassica oleracea L. var. botrytis L.
ชื่อสกุล
Brassica
คำระบุชนิด
oleracea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. botrytis
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- L.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
กะหล่ำต้น, ผักกาดดอก
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา