เฒ่าหลังลายเป็นไม้พุ่ม สูง ๒-๓ ม. กิ่งเป็นเหลี่ยม สีน้ำตาลอ่อน มีขนสั้นนุ่มบริเวณยอด
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๘ ซม. ยาว ๘-๒๐ ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบค่อนข้างเรียบ แผ่นใบบางด้านบนเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปรายที่เส้นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๐ เส้น นูนเป็นสันทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๒-๔ ซม.
ช่อดอกแบบช่อเชิงประกอบคล้ายช่อเชิงลดออกที่ยอดหรือตามซอกใบ ยาว ๕-๘ ซม. มีขนสั้นนุ่มช่อย่อยแบบช่อกระจุก ใบประดับและใบประดับย่อยขนาดเล็ก กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. ด้านนอกมีขนสั้นหนานุ่ม ก้านดอกสั้นมากหรือไร้ก้านกลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปใบหอก กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. มีขนสั้นนุ่ม กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ ยาว ๔-๕ ซม. สีม่วงอ่อน ด้านนอกมีขนประปราย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก
ผลแบบผลแห้งแตก รูปคล้ายกระบอง โคนสอบเรียว ยาวประมาณ ๒.๘ ซม. เมื่อแก่แตกเป็น ๒ ซีก มีขนประปรายบริเวณปลายผล เมล็ดแบนผิวขรุขระ สีเขียวเข้ม เมื่อแห้งสีออกดำ
เฒ่าหลังลายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบบนพื้นที่ชื้นตามป่าดิบ และป่าเบญจพรรณ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ เป็นผลเดือนมกราคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย.