แซะย่าน

Aganope thyrsiflora (Benth.) Polhill

ชื่ออื่น ๆ
แซะคลาน, แซะนุ้ย (ระนอง); ตังเม, ตับเต่า (จันทบุรี)
ไม้เถาเนื้อแข็งหลายปี ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อย ๕-๙ ใบ เรียงตรงข้าม รูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกสีขาวนวลหรือขาวแกมเขียวอ่อน อาจพบจุดสีน้ำตาลประปราย ผลแบบผลแห้งไม่แตก แบน บาง รูปขอบขนานหรือคล้ายรูปแถบยาว มีครีบตลอดความยาวของขอบทั้ง ๒ ด้าน เมล็ดรูปคล้ายไต มี ๑-๔ เมล็ด

แซะย่านเป็นไม้เถาเนื้อแข็งหลายปี ลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นดินหรือเกี่ยวพันไปบนต้นไม้สูงเปลือกค่อนข้างเรียบ สีน้ำตาลอ่อนแกมเทา มักแตกกิ่งก้านมาก ตามกิ่งพบช่องอากาศกระจายทั่วไปบริเวณที่ยังอ่อนใกล้ยอดมักมีขน เมื่อแก่เกลี้ยง

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียนใบย่อย ๕-๙ ใบ เรียงตรงข้าม รูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๖-๑๗.๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนกลม ขอบเรียบ แผ่นใบกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนังถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยงเป็นมันด้านล่างเกลี้ยงหรืออาจมีขนประปรายตามเส้นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ปลายเส้นโค้งขึ้นไปหาปลายใบ บางครั้งเชื่อมกับเส้นแขนงใบที่อยู่ถัดไป เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๓.๕-๑๐.๕ ซม.


แกนกลางใบยาว ๓-๑๙.๕ ซม. ทั้งก้านใบและแกนกลางใบมีริ้ว เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อยหูใบร่วงง่าย ไม่มีหูใบย่อย

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๓๐ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๕ ซม. แขนงช่อดอกยาว ๑.๗-๒๕ ซม. ทั้งแกนกลางของช่อดอกและแขนงช่อดอกมีขนสั้นนุ่ม ใบประดับที่รองรับแขนงช่อดอกและรองรับดอกรูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๐.๓-๐.๖ มม. ยาว ๑-๑.๗ มม. ด้านนอกมีขนคล้ายไหม ด้านในเกลี้ยง ร่วงง่าย ก้านดอกยาว ๑-๒ มม. มีขนคล้ายไหม ช่อย่อยแบบช่อกระจะ ใบประดับย่อยที่โคนกลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยมแคบหรือรูปเข็ม กว้าง ๐.๑-๐.๒ มม. ยาว ๐.๙-๑.๑ มม. ด้านนอกมีขนคล้ายไหม ด้านในเกลี้ยง กลีบเลี้ยงเชื่อมโคนติดกันเป็นรูปถ้วยสีขาวนวลแกมเขียวหรือสีขาวนวลแกมชมพู ด้านนอกมีขนคล้ายไหม ด้านในเกลี้ยง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แยกเป็นด้านบน ๒ แฉก ด้านข้าง ๒ แฉก และด้านล่าง ๑ แฉก รูปสามเหลี่ยมตื้น ๆ ยาว ๐.๑-๐.๓ มม. บางครั้งอาจตื้นมาก เห็นแฉกไม่ชัดเจน กลีบดอกสีขาวนวลหรือสีขาวแกมเขียวอ่อน อาจพบจุดสีน้ำตาลประปราย มี ๕ กลีบ กลีบกลางรูปกลมหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๔.๕-๕.๕ มม. ยาว ๔.๕-๖ มม. ปลายหยักเว้าตื้น บริเวณโคนตรงกลางกลีบมีรอยนูน สีเขียวอ่อนเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ก้านกลีบยาว ๑-๑.๗ มม. กลีบคู่ข้างรูปรี กว้าง ๓.๕-๓.๗ มม. ยาว ๖.๓-๖.๗ มม. บริเวณโคนกลีบด้านบนมีติ่งกลีบยาวประมาณ ๑ มม. รอยพับทางด้านข้างของกลีบคล้ายถุง เห็นไม่ชัดเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ก้านกลีบยาว ๑.๕-๒ มม. กลีบคู่ล่างรูปเรือ โค้งเฉียงขึ้นเล็กน้อย กว้าง ๒.๘-๓.๒ มม. ยาว ๖-๖.๕ มม. บริเวณโคนกลีบด้านบนมีติ่งกลีบยาว ๐.๕-๐.๗ มม. รอยพับทางด้านข้างของกลีบคล้ายถุงยาว ๑.๕-๒ มม. ก้านกลีบยาว ๓-๓.๓ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกมี ๙ เกสร ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันคล้ายหลอดโอบล้อมเกสรเพศเมียเกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๑ เกสร อยู่ทางด้านบนและแยกเป็นอิสระ ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนโดยเฉพาะที่ส่วนปลายใกล้อับเรณู อับเรณูกว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๐.๗ มม. มีขนจานฐานดอกเป็นแท่งคล้ายนิ้วมือ มี ๙-๑๐ แท่ง สูง


ประมาณ ๐.๔ มม. มีขน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ยาว ๕-๖ มม. มี ๑ ช่อง ออวุล ๓-๕ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๔.๕-๕ มม. มีขน ยอดเกสรเพศเมียเล็กมาก

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก แบน บาง รูปขอบขนานหรือคล้ายรูปแถบยาว มีครีบตลอดความยาวของขอบทั้ง ๒ ด้าน ผลรวมครีบกว้าง ๒.๕-๓.๘ ซม. ยาว ๕-๑๕ ซม. ครีบขอบด้านบนกว้าง ๓-๘ มม. ครีบขอบด้านล่างกว้าง ๓-๗ มม. เมื่ออ่อนอาจมีขนประปราย เมื่อผลเจริญเต็มที่เกลี้ยง เมล็ดรูปคล้ายไต กว้าง ๐.๙-๑.๓ ซม. ยาว ๑.๑-๑.๒ ซม. มี ๑-๔ เมล็ด

 แซะย่านมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าดิบแล้ง บริเวณริมลำธาร ชายป่า ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑๐๐ ม. ออกดอกเดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายน เป็นผลเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ มีรายงานการใช้สารสกัดจากผลในการรักษาโรคบิดและอาการปวดท้อง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แซะย่าน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Aganope thyrsiflora (Benth.) Polhill
ชื่อสกุล
Aganope
คำระบุชนิด
thyrsiflora
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Bentham, George
- Polhill, Roger Marcus
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Bentham, George (1800-1884)
- Polhill, Roger Marcus (1937-)
ชื่ออื่น ๆ
แซะคลาน, แซะนุ้ย (ระนอง); ตังเม, ตับเต่า (จันทบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ยศเวท สิริจามร