กะลุมพี

Eleiodoxa conferta (Griff.) Burret

ชื่ออื่น ๆ
กะลูบี, กุบี (มลายู-นราธิวาส), หลุมพี (ใต้)
ปาล์มแตกเป็นกอ ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียนถี่ก้านใบ แกนกลางใบร่วม และกาบใบ มีหนามยาวเรียงเป็นแผงใบย่อยรูปเรียวยาว ดอกแยกเพศต่างต้น สีแดง ออกเป็นช่อเชิงลด แยกแขนงเป็นพวงใหญ่ โคนช่อมีกาบหุ้ม ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปไข่กลับ ผลสุกสีเหลืองถึงสีแสด

กะลุมพีเป็นปาล์มชนิดหนึ่ง จำพวกระกำ ลำต้นสั้น แตกหน่อเป็นกอใหญ่ ออกดอกผลแล้วตายไป

 ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียนถี่ กว้าง ๑-๒ ม. ยาว ๓-๕ ม. อาจยาวได้ถึง ๗ ม. ก้านใบและกาบใบมีหนามยาวแหลมเรียงเป็นแผง แกนกลางมีหนามยาวแหลมทางด้านล่างมีใบย่อยมาก รูปเรียวยาว ปลายแหลม ไม่มีก้าน โคนติดที่บ้านรวม กว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๐.๓-๑ ม. เรียงเป็นระเบียบ ๒ ข้างก้านใบประกอบ ใบย่อยตอนกลางแกนกลางยาวกว่าใบย่อยที่โคนและปลายแกนกลาง

 ดอกแยกเพศต่างต้น ขนาดเล็ก สีแดง ออกเป็นช่อเชิงลด ตั้งตรง แยกแขนง ยาว ๐.๕-๑ ม. มีกาบหุ้มช่อหลายกาบรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด

 ผลแบบเมล็ดเดียวแข็ง รูปไข่กลับ ปลายตัด โคนสอบกว้างและยาว ๒.๕-๓ ซม. เปลือกบางเป็นเกล็ดเล็ก ๆ เรียงเกยซ้อนกัน ผลสุกสีเหลืองถึงสีแสด แต่ละผลมักมี ๑ เมล็ด ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๒.๕ ซม. เนื้อหุ้มเมล็ดนุ่มหนา สีเหลืองอมส้ม

 กะลุมพีมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ขึ้นเฉพาะในที่น้ำขังและตามป่าพรุ ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดทั้งปี แต่จะชุกในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม ระยะตั้งแต่เริ่มผลิดอกถึงผลแก่ใช้เวลาประมาณ ๒ ปี ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซียถึงเกาะบอร์เนียว

 เนื้อหุ้มเมล็ดรสเปรี้ยวจัด นำมาปรุงเป็นเครื่องดื่ม และปรุงรสอาหารได้ดี

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กะลุมพี
ชื่อวิทยาศาสตร์
Eleiodoxa conferta (Griff.) Burret
ชื่อสกุล
Eleiodoxa
คำระบุชนิด
conferta
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Griffith, William
- Burret, (Maximilian) Karl Ewald
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Griffith, William (1810-1845)
- Burret, (Maximilian) Karl Ewald (1883-1964)
ชื่ออื่น ๆ
กะลูบี, กุบี (มลายู-นราธิวาส), หลุมพี (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม