กะลิงเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. เปลือกนอกสีดำ แตกเป็นร่องตามยาว เปลือกในสีน้ำตาลอมชมพูอ่อน กระพี้สีขาวแก่นสีน้ำตาลอมดำ
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง ๓-๘ ซม. ยาว ๘-๒๐ ซม. ปลายสอบมน โคนมนหรือสอบ แผ่นใบค่อนข้างบาง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๘ คู่ เส้นใบย่อยเห็นได้ไม่ชัด ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. ใบอ่อนมีขนนุ่มและจะค่อย ๆ ร่วงไป
ดอกแยกเพศต่างต้น ดอกเพศผู้เป็นช่อสั้น ออกตามง่ามใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๔-๕ กลีบ กลีบเลี้ยงยาว ๓-๔ มม. เหยียดชี้ออก ขอบกลีบเป็นคลื่น โคนกลีบมักไม่เชื่อมติดกันและมีขนนุ่มทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอกยาว ๐.๗-๑.๒ ชม. โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปดอกเข็ม ตอนปลายแยกเป็นแฉกยาวไล่เลี่ยกับส่วนที่ติดกัน ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยงก้านดอกยาว ๑-๒ มม. มีขนสากทั่วไป เกสรเพศผู้ ๘-๑๖ อัน อับเรณูมีขนแซมตามแนวกลาง อาจมีรังไข่ไม่สมบูรณ์ที่มีขนประปราย ดอกเพศเมียสีขาวอมเหลือง ออกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อสั้นตามกิ่งเหนือรอยแผลใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๔-๕ กลีบ ลักษณะเหมือนดอกเพศผู้แต่ใหญ่กว่าก้านดอกสั้นมากหรือมองไม่เห็น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปป้อมมีขนสั้นหนาแน่น มี ๘-๑๐ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมีขนสั้น ๆ แน่น เกสรเพศผู้เป็นหมัน ๔-๖ อัน
ผลป้อมหรือรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๒-๔ ซม. ปลายมนหรือปุ่มเล็กน้อย ผลอ่อนมีขนสั้น ๆ แน่นและจะร่วงไปเมื่อผลแก่ วงกลีบเลี้ยงที่รองรับผลมีขนสากแน่นทางด้านนอก ด้านในมีขนนุ่ม ปลายกลีบเหยียดชี้ออกและลู่แนบไปตามผิวผล ขอบกลีบเป็นคลื่นมาก เส้นลายกลีบอาจเห็นได้ราง ๆ ก้านผลยาว ๒-๓ มม. เมล็ดแข็ง รูปจันทร์เสี้ยวหรือรูปไต
กะลิงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นในป่าดิบ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณชื้น ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐-๑๕๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน เป็นผลระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่กัมพูชา เวียดนาม และภูมิภาคมาเลเซีย
เนื้อไม้ใช้เป็นสิ่งปลูกสร้างภายในร่ม และทำเครื่องตกแต่งบ้านทั่ว ๆ ไป.