เซมัน

Premna octonervia Merr. et F. P. Metcalf

ชื่ออื่น ๆ
จันมัน (นครศรีธรรมราช)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยมมน มีขนสีน้ำตาลประปราย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากรูปไข่ รูปไข่แกมรูปรี หรือรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกที่ปลายกิ่งดอกสีขาวหรือสีนวล กลีบดอกรูปปากเปิด คอหลอดดอกมีขนอุยสีขาวหนาแน่น ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็งทรงรูปไข่กลับหรือทรงรูปไข่ ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีดำเป็นมัน มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดขนาดเล็ก

เซมันเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยมมน มีขนสีน้ำตาลประปรายกิ่งแก่รูปทรงกระบอก เกลี้ยง มีช่องอากาศขนาดใหญ่กระจายทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ รูปไข่แกมรูปรี หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๓-๑๑ ซม. ยาว ๕-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว มักเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนสีน้ำตาลประปราย ด้านล่างเกลี้ยง มีต่อมขนาดเล็กสีเหลืองอมน้ำตาลหรือสีน้ำตาลประปราย เส้นกลางใบมีขนสีน้ำตาลประปรายทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนนูนหรือเรียบ ด้านล่างนูนเด่นชัด เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๒ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ทั้งเส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยเห็นชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบเรียว ยาว ๑-๕ ซม. ด้านบนเรียบหรือเป็นร่องตื้น ๆ

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกที่ปลายกิ่ง ยาว ๕-๑๕ ซม. ก้านช่อดอกหนาเป็นสี่เหลี่ยมมน ยาว ๑.๕-๕ ซม. มีต่อมสีน้ำตาลแกมเหลืองประปราย ก้านดอกหนา ยาว ๑-๗ มม. ดอกเล็กมีจำนวนมาก สีขาวหรือสีนวล ใบประดับรูปไข่ รูปรีหรือรูปใบหอก ยาว ๐.๒-๕ ซม. ร่วงง่าย ใบประดับย่อยรูปแถบหรือรูปแถบแกมรูปใบหอก ยาว ๐.๕-๕ มม. กลีบเลี้ยงรูปปากเปิด ยาว ๑-๒ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกเล็ก ๆ ๕ แฉก แยกเป็น ๒ ซีก ยาวเท่ากัน ซีกบน ๓ แฉก รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม ปลายแหลมหรือมน พบบ้างที่ซีกบนมีเพียง ๒ แฉก หรือขอบอาจเรียบ ซีกล่าง ๒ แฉก รูปไข่ ปลายมน แฉกกลีบเลี้ยงทั้งหมดมีขนและต่อมขนาดเล็กสีน้ำตาลประปรายทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอกรูปปากเปิด ยาว ๓-๖ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดคล้ายรูปทรงกระบอกกว้าง ด้านนอกเกลี้ยง คอหลอดดอกมีขนอุยสีขาวหนาแน่น ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก แยกเป็นซีกบน ๒ แฉก เชื่อมติดกันเป็นรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายเว้าตื้นหรือเป็น ๒ แฉกชัดเจน ซีกล่าง ๓ แฉก แฉกกลางรูปขอบขนานกว้างหรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายมน แฉกข้างรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนานกว้าง ปลายมน ด้านนอกแฉกเกลี้ยง หรือมีขนสั้นและมีต่อมขนาดเล็กประปราย ด้านในเกลี้ยงหรือมีขนสั้นประปราย เกสรเพศผู้ ๔ เกสร แยกเป็น ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน โผล่พ้นหลอดดอก ก้านชูอับเรณูเรียวยาว อับเรณูรูปไข่สีน้ำเงินหรือม่วงอมดำ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่หรือรูปเกือบกลม เกลี้ยง มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียหนา ยาว ๔-๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นแฉกสั้น ๆ ๒ แฉก

 ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่กลับหรือทรงรูปไข่ ยาว ๕-๖ มม. เกลี้ยง ผลอ่อนสีเขียวผลแก่สีดำเป็นมัน มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดขนาดเล็ก มี ๔ เมล็ด

 เซมันมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามชายป่าดิบหรือตามป่าชายหาดที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑๐๐ ม. ออกดอกเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เซมัน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Premna octonervia Merr. et F. P. Metcalf
ชื่อสกุล
Premna
คำระบุชนิด
octonervia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Merrill, Elmer Drew
- Metcalf, Franklin Post
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
- Metcalf, Franklin Post (1892-1955)
ชื่ออื่น ๆ
จันมัน (นครศรีธรรมราช)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สมราน สุดดี