กะลาหอมเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีเหง้า ลำต้นเทียมอยู่เหนือดิน เกิดจากกาบใบโอบกันแน่น ขึ้นเป็นกอ สูง ๔-๕ ม.
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปใบหอกแคบ กว้าง ๑๐-๑๑.๕ ซม. ยาว ๕๕-๗๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมน ขอบมีขน แผ่นใบด้านบนสีเขียวอมม่วง มีแถบสีขาวทั้ง ๒ ด้านของเส้นกลางใบ ด้านล่างสีม่วง ก้านใบยาว ๒-๒.๕ ซม. ลิ้นใบยาวประมาณ ๑.๗ ซม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉกไม่เท่ากัน มีขน ขอบเป็นเยื่อบางใส กาบใบสีม่วง
ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกจากเหง้า ก้านช่อดอกตั้งตรงยาวได้ถึง ๑ ม. ส่วนล่างเกลี้ยง ส่วนบนมีขน กาบช่อดอกรูปใบหอก กว้างประมาณ ๓ ซม. ยาว ๙-๑๑ ซม. วงใบประดับ ประมาณ ๒ ชั้น แต่ละใบรูปใบหอกแกมรูปไข่แคบ กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาว ๖-๗ ซม. ครึ่งบนสีแดง ครึ่งล่างสีเขียว ปลายแหลม ใบประดับวงในรูปใบหอกแคบ กว้างประมาณ ๗ มม. ยาวประมาณ ๓.๕ ซม. ตรงฐานและเส้นกลางใบมีขน ใบประดับย่อยเป็นหลอด ยาวประมาณ ๓.๒ ซม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉกลึกไม่เท่ากัน โคนมีขน กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๔ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ประมาณ ๒.๓ ซม. สีแดง ปลายสีเหลือง รูปคุ่ม โคนมีขน กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ ๗ มม. มีขน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ปลายแฉกรูปคุ่ม กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๒.๒ ซม. สีแดง กลีบปากสีแดง ขอบสีอ่อนกว่า ยาวประมาณ ๒.๖ ซม. ซึ่งยาวเท่ากับกลีบดอกหรือยาวกว่าเล็กน้อย ปลายกลีบปากเว้าตรงกลางเล็กน้อย เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๑ อัน มีขนก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๓ มม. อับเรณูกว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๙ มม. แตกตามยาว รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ยาวประมาณ ๖ มม. มีขนหนาแน่น มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก
ผลแบบผลมีเนื้อ รูปไข่ มีขนหนาแน่น ผลอ่อนมีจะงอย ยาว ๑-๑.๕ ซม.
กะลาหอมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย ปัจจุบันยังไม่มีการปลูกกันมากนัก แต่ใบประดับมีสีสวยและคงทน เชื่อว่าจะสามารถนำมาพัฒนาเป็นไม้ตัดดอกได้เช่นเดียวกับกาหลาที่นิยมกันอยู่ในปัจจุบัน.